สารบัญ

ด้านซ้ายมือ คือ กระดูกปกติ ด้านขวามือ คือ กระดูกพรุน
ร่างกายของคนเราสามารถคงสภาพอยู่ได้ เคลื่อนไหวได้เพราะเรามีกระดูกชนิดต่างๆเป็นตัวค้ำจุน กระดูกมีหน้าที่สำคัญหลายอย่างในร่างกาย เช่น ป้องกันอวัยวะภายใน สร้างเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาว เก็บรักษาแร่ธาตุสำหรับร่างกายหลายชนิด กระดูกในร่างกายของคนเรามีอยู่หลายแบบ แตกต่างกันทั้งในส่วนของรูปร่าง ขนาด ส่วนประกอบและหน้าที่
กระดูกพรุน กระดูกบาง กระดูกผุเป็นอย่างไร ?
กระดูกมนุษย์ปกติจะมีความแข็งแรง ยืดหยุ่น ทนทานต่อแรงกดดันและแรงกระแทกได้ดีในระดับหนึ่ง จึงสามารถปกป้องอวัยวะภายในร่างกายได้ ภาวะกระดูกพรุน คือ ภาวะที่กระดูกมีความแข็งแรงลดลงเนื่องจากมวลกระดูกมีความหนาแน่นน้อยลงจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง จนส่งผลให้กระดูกไม่แข็งแรง อ่อนแอ มีโอกาสหรือความเสี่ยงสูงที่จะแตกหักได้ง่ายหากได้รับแรงกดดันหรือแรงกระแทกจากอุบัติเหตุ เช่น การล้มเพียงครั้งเดียวอาจทำให้ผู้ที่มีปัญหากระดูกบางหรือกระดูกพรุนได้รับบาดเจ็บเกิดอาการกระดูกแตกหรือกระดูกหักแบบรุนแรง เป็นต้น โดยทั่วไปแล้วโรคกระดูกพรุนมักเกิดกับผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
การตรวจวัดความแข็งแรงของกระดูก จะตรวจสอบจากค่าดัชนีความหนาแน่นของมวลกระดูก (Bone Mineral Density) โดยมีวิธีการหรือเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้ตรวจสอบค่านี้ได้ วิธีการที่แม่นยำและได้รับความนิยมที่สุดในปัจจุบัน คือ การใช้รังสีเอ็กซ์เรย์ในระดับต่ำ (dual energy X-ray absorptiometry = DEXA)

ค่า T-Score ที่ใช้บ่งชี้ถึงความหนาแน่นมวลกระดูก
ค่าความหนาแน่นมวลกระดูกที่วัดได้จะนำไปเปรียบเทียบกับค่ามาตราฐานของคนสุขภาพดีอายุน้อยทั่วไป โดยค่าได้ที่ได้จะเรียกว่าค่า T-score ค่านี้จะบ่งชี้ถึงความแข็งแรงหรือความหนาแน่นของมวลกระดูกตามมาตราฐานต่อไปนี้
- ค่า T score อยู่ระหว่าง -1 ถึง 0 ถือว่าปกติ
- ค่า T score อยู่ระหว่าง -2.5 ถึง -1 ถือว่ามีภาวะกระดูกบาง (osteopenia)
- ค่า T score น้อยกว่า -2.5 ลงไปถือว่ามีภาวะกระดูกพรุน (osteoporosis)
ยิ่งค่า T score ติดลบมากแสดงว่า กระดูกมีปัญหามาก นั่นหมายความว่า ภาวะกระดูกพรุนรุนแรงและอันตรายกว่าภาวะกระดูกบางนั่นเอง
ในความเข้าใจของผู้เรียบเรียงคำว่า
กระดูกผุ = กระดูกพรุน หลายคนใช้คำเรียกของโรคกระดูกพรุนต่างกันไป
สาเหตุของภาวะกระดูกบาง กระดูกพรุน
สาเหตุที่เป็นไปได้ของภาวะกระดูกบางและกระดูกพรุนมีดังต่อไปนี้
- อายุที่มากขึ้น เป็นเรื่องธรรมชาติที่คนเราต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย อายุที่มากขึ้นมีผลทำให้ฮอร์โมนเพศลดลงเรื่อยๆ ความหนาแน่นของมวลกระดูกของคนเราจะสูงสุดเมืออายุ 30 ปี และจะลดลงเรื่อยๆหลังจากนั้น ในผู้หญิงสูงอายุฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลงส่งผลให้ความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลง ในผู้ชายสูงอายุ การลดลงของฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนก็มีส่งผลความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลงเช่นกัน อย่างไรก็ตามในเพศชายจะมีการลดลงของมวลกระดูกช้ากว่าเพศหญิงในช่วงอายุเท่ากัน
- เชื้อชาติ โรคกระดูกพรุนเกิดได้กับคนทั่วโลกทุกเชื้อชาติ แต่มีความโน้มเอียงหรือแนวโน้มจะเกิดกับคนเอเซียและคนยุโรปได้มากกว่าเชื้อชาติอื่น
- การถ่ายทอดทางพันธุกรรม ผู้ที่ครอบครัวหรือญาติมีพี่น้องมีประวัติป่วยเป็นโรคกระดูกพรุน มีแนวโน้มจะเป็นโรคนี้สูงถึง 25 – 80%
- เคยผ่าตัดเอามดลูกและรังไข่ออก การผ่าตัดเอามดลูกและรังไข่ออกจำเป็นต้องทำในการรักษาบางกรณี เช่น มะเร็ง เนื้องอกในมดลูก เนื้องอกในรังไข่ ส่งผลให้ไม่มีรังไข่และร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนเพศหญิงได้
- การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป มีผลทำให้ความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลง
- ร่างกายขาดวิตามินดี การขาดวิตามินดีส่งผลให้ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากขึ้น ซึ่งฮอร์โมนไทรอยด์จะทำให้เกลือแร่ในกระดูกละลายออกมาเพื่อเข้าสู่กระแสเลือดมากขึ้น ส่งผลให้ความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลง
- การสูบบุหรี่ มีผลต่อสุขภาพของกระดูกโดยตรง
- ภาวะทุพโภชนาการ การกินอาหารให้ครบถ้วนและได้สัดส่วนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการดูแลกระดูกให้แข็งแรง ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้กระดูกพรุน คือ การขาดเกลือแร่ เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม สังกะสี โบรอน เหล็ก ฟลูออไรด์ ทองแดง การขาดวิตามิน A K E และ C การมีโซเดียมในร่างกายมากเกินไปก็เป็นปัจจัยหนึ่ง (โซเดียมมีมากในเกลือ เพราะฉะนั้นอย่าทานเค็มครับ) การที่ร่างกายมีภาวะเป็นกรดมากเกินไปจากการกินอาหาร
- การกินโปรตีนจากเนื้อสัตว์มากเกินไป จากงานวิจัยพบความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคโปรตีนจากสัตว์กับการเพิ่มขึ้นของการขับแคลเซียมทางปัสสาวะ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับการเพิ่มความเสี่ยงของภาวะกระดูกแตกหักง่าย แต่ข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคโปรตีนจากสัตว์มากเกินไปกับความหนาแน่นของมวลกระดูกที่มีอยู่ก็ยังไม่ชัดเจนนัก (ความเห็นของผู้เรียบเรียง การทานโปรตีนจากสัตว์มากเกินไปมีผลให้ร่างกายมีความเป็นกรด จัดได้เป็นภาวะทุพโภชนาการอย่างหนึ่ง ซึ่งน่าจะส่งผลกับความหนาแน่นของมวลกระดูกครับ)
- น้ำหนักตัวน้อย/ไม่ค่อยขยับร่างกาย ผู้ที่มีน้ำหนักตัวน้อยและไม่ค่อยขยับร่างกาย มักจะมีภาวะสูญเสียความหนาแน่นมวลกระดูก การออกกำลังโดยใช้แรงต้านหรือการใช้น้ำหนัก (ที่เราเห็นชาวบ้านเค้าออกกำลังกายตามฟิตเนส ด้วยการยกน้ำหนัก) จะช่วยให้กระดูกและกล้ามเนื้อมีความแข็งแรงมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากพบว่ามีปัญหาเรื่องโรคกระดูกพรุนน้อยกว่าผู้ที่มีน้ำหนักตัวน้อย (เพิ่มเติมจากผู้เรียบเรียง น้ำหนักตัวมากหรือน้อยมีเกณฑ์ในการวัดตามอายุ เพศ ส่วนสูง)
- การออกกำลังมากเกินไป มักพบปัญหากับนักกีฬาหญิง เนื่องจากการออกกำลังกายที่มากจนเกินไปจะส่งผลต่อการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน กล่าวคือทำให้ฮอร์โมนลดน้อยลง เนื่องจากฮอรโมนแอนโดรเจนถูกสร้างมากขึ้น ส่งผลให้ประสบภาวะขาดประจำเดือนและมีความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลงได้ อย่างไรก็ตาม ในอีกทางหนึ่ง ปัญหานี้พบได้น้อยกับนักกีฬาชาย ส่วนใหญ่แล้วยิ่งออกกำลังกายมากยิ่งเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูกที่มากขึ้น
- สาระโลหะหนัก การมีสารโลหะหนักในร่างกาย เช่น แคดเมียม ตะกั่ว มีผลให้ความหนาแน่นมวลกระดูกในร่างกายลดลงอย่างรวดเร็ว
- เครื่องดื่มอัดลม น้ำอัดลมประกอบไปด้วย น้ำ น้ำตาล กรดคาร์บอนิก กรดฟอสฟอริก แต่งสี กลิ่นและรส กรดในน้ำอัดลมที่กล่าวมามีความสามารถในการย่อยหินปูน จึงสามารถกัดกร่อนกระดูกและฟันได้ เนื่องจากฟอสเฟสไปดึงแคลเซียมออกมาจากกระดูกและฟัน ดังนั้น ผู้ที่ดื่มน้ำอัดลมจึงมีความเสียงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน
- ภาวะฮอร์โมนเพศต่ำ สตรีที่มีปัญหาฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำและบุรุษที่มีปัญหาฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนต่ำ จะมีปัญหาเรื่องภาวะความหนาแน่นมวลกระดูกลดลงหรือเป็นโรคกระดูกพรุนได้
- ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ปกติ อวัยวะส่วนใดที่ไม่ค่อยถูกใช้งานมักจะมีขนาดเล็กและไม่แข็งแรง กระดูกก็เช่นกัน เราจะเห็นตัวอย่างได้จากคนประสบอุบัติเหตุแล้วขาหักเข้าเฝือก หาต้องเข้าเฝือกนานๆพอถอดเฝือกออกมาแล้ว กล้ามเนื้อขาและกระดูกขาจะมีขนาดเล็กลง ผู้ที่ต้องนั่งรถเข็นเนื่องจากความพิการ ผู้ที่นอนบนเตียงนานๆ ล้วนแล้วแต่สูญเสียมวลกระดูกทั้งนั้น
- การทำงานของระบบต่อมไร้ท่อผิดปกติ เช่น ต่อมหมวกไต ต่อมไทรอยด์ ตับอ่อน ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคคุชชิ่งซินโดรมหรือโรคพุ่มพวง โรคต่อมไทรอยด์ทำงานมากกว่าปกติ โรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ โรคเบาหวาน
- ภาวะทุพโภชนาการที่เกิดจากโรค ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถย่อยและดูดซึมสารอาหารเพื่อนำไปใช้ได้อย่างปกติ ซึ่งจุดที่เกิดปัญหาจะเกี่ยวข้องกับอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคแพ้กลูเตนที่เกิดจากลำไส้เล็กอักเสบ โรคลำไส้อักเสบ โรคที่ทำให้ตับเสียหายรุนแรง เป็นต้น
- การใช้ยารักษาโรคที่มีส่งผลให้เกิดโรคกระดูกพรุน เช่น สเตียรอยด์ ยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ยาฮอร์โมนไทรอยด์ ยาที่ทำให้เกิดภาวะฮอร์โมนเพศต่ำ ยาละลายลิ่มเลือด ยากลุ่มยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารบางประเภท ยารักษาเบาหวาน เป็นต้น
อาการ
โรคกระดูกพรุนถูกเรียกว่าเป็น “ภัยเงียบ” เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการใดๆทั้งสิ้นจนกว่าจะถึงภาวะกระดูกพรุน ซึ่งใช้เวลาสะสมความเสียหายหรือค่อยๆมีการสูญเสียมวลกระดูกมานานหลายปี (หลายสิบปี) จากกระดูกปกติเป็นกระดูกบาง จนสุดท้ายพอกระดูกพรุนและไม่สามารถรับน้ำหนักตัวได้ก็จะเกิดอาการปวด เช่น ปวดหลัง ปวดเอว ปวดสะโพก เพราะกล้ามเนื้อต้องทำงานหนักขึ้นแทนกระดูกที่อ่อนแอลง เมื่อแพทย์ตรวจมวลกระดูก ก็จะพบว่าอยู่ในภาวะกระดูกพรุนแล้ว
ในอีกกรณีหนึ่ง คือ กระดูกพรุนไปแล้ว แต่ไม่มีความเจ็บปวดอะไร วันดีคืนดีเกิดอุบัติเหตุ เช่น การหกล้มแบบไม่รุนแรง ก็อาจทำให้กระดูกหัก แตกหรือร้าวได้ เมื่อไปพบแพทย์จึงทราบในภายหลังว่ากระดูกพรุนแล้ว
การป้องกัน

การออกกำลังกายกลางแจ้ง นอกจากจะช่วยให้ป้องกันโรคกระดูกพรุนแล้ว ยังช่วยให้ร่างกายได้สร้างวิตามินดีอีกด้วย
1. โภชนาการ
อาหารการกินเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เราสามารถป้องกันโรคกระดูกบางและโรคกระดูกพรุนได้ หลักการในการกินอาหารที่ดีหลายคนทราบแล้ว หลายคนไม่ทราบ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ทราบแล้วไม่ทำ อันนี้คงช่วยลำบากครับ
หลักในการทานอาหารให้มีกระดูกที่แข็งแรง มีหลักการง่ายๆดังต่อไปนี้
- ทานอาหารที่มีแคลเซียมเป็นประจำทุกวัน เนื่องจากกระดูกประกอบไปด้วยแคลเซียมจำนวนมาก การทานอาหารเพื่อเสริมธาตุแคลเซียมจึงเป็นเรื่องจำเป็น เช่น ปลาเล็กปลาน้อย งาดำ บรอคเคอรี่ ไข่ ปลาซาดีนหรือปลากระป๋อง โยเกิร์ต ถั่วแอลมอนต์ เป็นต้น
- ทานอาหารให้เป็นเวลา มื้อเช้า 7.00 – 9.00 มื้อกลางวัน 11.00 – 13.00 มื้อเย็น 16.00 – 17.00 การทานอาหารให้เป็นเวลาจะช่วยให้ร่างกายสามารถย่อย ดูดซึมและนำสารอาหารไปใช้ได้สูงสุด ดีต่อร่างกายและกระดูกของเราแน่นอน
- ทานอาหารให้ได้สัดส่วน การทานอาหารให้ได้สัดส่วน คือ ทานผักผลไม้ให้มาก ทานแป้งและเนื้อสัตว์น้อยหน่อย ในอัตราส่วน 80/20 เพื่อช่วยสร้างสมดุลให้กับร่างกายและมีสุขภาพที่ดีในระยะยาว
- ทานอาหารให้ได้ในปริมาณที่เหมาะสม ทานมื้อเช้าให้มากทีสุด มื้อเที่ยงปานกลาง มื้อเย็นทานน้อย ตามระบบการเผาผลาญของร่างกาย
บทความเสริม –> เคล็ดไม่ลับการกินอาหารต้านกระดูกพรุน
2. การออกกำลังกาย
เป็นการช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูก ตามหลักการ “use it or lose it.” ถ้าเราใช้ร่างกายส่วนไหนมากส่วนนั้นจะมีความแข็งแรง กระดูกก็เช่นกัน หากเราอยากให้กระดูกแข็งแรง มีความหนาแน่นของมวลกระดูกเพิ่มขึ้นต้องออกกำลังกายเป็นประจำ
การออกกำลังกายแบ่งออกได้ 4 ประเภท คือ
- การออกกำลังกายแบบใช้ความทนทาน
- การออกกำลังกายแบบใช้ความแข็งแรง
- การออกกำลังกายแบบใช้ความยืดหยุ่น
- การออกกำลังกายแบบใช้ความสมดุล
การออกกำลังกายที่ช่วยให้กระดูกมีความแข็งแรงสูงสุดจะเป็นออกกำลังกายแบบใช้ความแข็งแรง เช่น การยกน้ำหนักที่เราเห็นคนสมัยนี้ออกกันตามฟิตเนส ซึ่งอาจจะเหมาะสำหรับวัยรุ่น คนหนุ่มคนสาว แต่ไม่เหมาะกับคนสูงอายุ การออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก จึงจำเป็นต้องพิจารณาจากหลายปัจจัย
การออกกำลังกายนอกจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การที่กล้ามเนื้อแข็งแรงจะช่วยทำหน้าในการรับภาระหรือน้ำหนักร่วมกับกระดูก ช่วยให้กระดูกทำงานน้อยลงได้ ซึ่งเป็นข้อดีอีกอย่างหนึ่ง
บทความเสริม –> การออกกำลังกายสำหรับผู้ที่มีปัญหากระดูกพรุน
3. หลีกเลี่ยงการบริโภคที่ทำให้กระดูกพรุน
อาหารที่ทำให้กระดูกบางหรือกระดูกพรุน คือ อาหารที่ทานเข้าไปแล้วทำให้ร่างกายมีกระบวนสลายแคลเซียมจากกระดูกเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งหลักๆที่เราทราบกัน คือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด การสูบบุหรี่ การดื่มน้ำอัดลม
4. การทานอาหารเสริม
การทานอาหารเพื่อให้ได้สารอาหารที่ใช้ในการบำรุงกระดุกครบทุกชนิดเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะในหนึ่งวันเราอาจจะต้องทานอาหารหลายชนิด ในส่วนของผู้ที่มีเวลาเตรียมอาหารย่อมสามารถทำได้ แต่คนส่วนใหญ่สมัยนี้ไม่ค่อยมีเวลาเตรียมอาหารมากนัก อาหารเสริมจึงเข้ามาทีบทบาทต่อการดูแลสุขภาพของคนสมัยนี้มากขึ้น
อาหารเสริมเพื่อป้องกันโรคกระดูกในท้องตลาด จะมีส่วนผสมที่คล้ายคลึงกัน คือ มีส่วนผสมหลักเป็นแคลเซียม นอกจากนั้นก็จะมีวิตามินดี เพื่อช่วยให้ร่างกายใช้ในการดูดซึมแคลเซียมและวิตามินเคสอง ที่ช่วยป้องกันไม่ให้แคลเซียมที่เราทาน เข้าไปเกาะตามหลอดเลือดหัวใจ การทานอาหารเสริมอาจส่งผลดีกับกระดูก แต่ก็มีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นถึงผลข้างเคียงเช่นกัน ดังนั้น สูตรและปริมาณที่ทานของอาหารเสริมต้องมีความเหมาะสม เพื่อให้ได้ประโยชน์และปลอดภัยกับผู้ใช้มากที่สุด
5. การนอนหลับพักผ่อน
การนอนหลับเป็นการพักผ่อนที่ดีทีสุด เพราะในขณะที่เรานอนหลับร่างกายจะมีการเสริมสร้างซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ผ่านการหลั่งฮอร์โมนชนิดต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้กระดูกได้รับการเสริมสร้างและฟื้นฟูตามไปด้วย จากการศึกษาทางการแพทย์พบว่า ผู้ที่อดหลับอดนอนหรือนอนไม่พอ นอนไม่เป็นเวลามีความเสี่ยงป่วยเป็นโรคกระดูกบางและกระดูกพรุนมากกว่าผู้ที่นอนหลับพักผ่อนแบบปกติ
6. ออกรับแสงแดดบ้าง
วิตามินที่มีบทบาทสำคัญต่อการดูดซึมแคลเซียมของร่างกาย คือ วิตามินดี ซึ่งเป็นวิตามินที่ร่างกายไม่สามารถผลิตเองได้ และมีอยู่ในอาหารค่อนข้างน้อย แต่โชคดีที่ธรรมชาติสร้างร่างกายของคนเราให้สามารถสังเคราะห์วิตามินดีได้ทางผิวหนัง โดยการออกไปรับแสงแดด ผู้ที่วันๆทำงานอยู่แต่ในร่มหรืออยู่แต่ในบ้าน ผู้ที่ทาครีมกันแดดทั้งตัวตลอดเวลา ลองหาเวลาในช่วงที่แดดไม่แรง เช่น ช่วงเช้า 6.00 – 7.00 ออกไปรับแสงแดดเป็นประจำ เพื่อให้ร่างกายสามารถดูดซึมแคลเซียมได้ดีขึ้น รับรองได้ว่ากระดูกจะมีความแข็งแรงขึ้นอย่างแน่นอน
การรักษา

การสูญเสียมวลกระดูกจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุ ส่งผลให้ส่วนสูงลดลงตามไปด้วย
1. การรักษาด้วยยา
มียารักษาโรคกระดูกบางและกระดูกพรุนตามท้องตลาดหลายชนิดที่ช่วยเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูกและลดความเสี่ยงของภาวะกระดูกแตกหรือหักได้ ยาประเภทนี้จะเป็นยาที่มีส่วนผสมของ บิสฟอสโฟเนต (Bisphosphonates) ซึ่งทำหน้าที่เร่งการสร้างความหนาแน่นของมวลกระดูก อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงจากการใช้ยาเป็นเรื่องที่ต้องระวัง เช่น อาการไม่สบายท้อง กรดไหลย้อน เนื่องจากร่างกายสามารถดูดซึมยาที่มีส่วนผสมของไบฟอสฟอเนตได้ยาก หรือการขาดเลือดในกระดูกขากรรไกร ส่งผลให้เกิดภาวะกระดูกขากรรไกรยุบได้ ดังนั้น การใช้ยาต้องได้รับคำแนะนำและการดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
2. การบำบัดด้วยอาหาร
การเลือกทานอาหารให้ได้ถูกชนิด สัดส่วน ปริมาณและเวลา ช่วยฟื้นฟูและชะลอการเสื่อมของกระดูกได้ มีคนจำนวนมากที่เปลี่ยนนิสัยการกินอาหารแล้ว ความหนาแน่นของมวลกระดูกเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เรื่องการบำบัดและฟื้นฟูกระดูกเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลานานและใช้ความอดทน จึงจะสามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงได้
3. การบำบัดด้วยอาหารเสริม
ในกรณีของผู้ที่มีปัญหากระดูกบางหรือกระดูกพรุนแล้ว การใช้อาหารเสริมเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะการฟื้นฟูโดยใช้อาหารเพียงอย่างเดียวแม้จะได้ผลดี แต่ระยะเวลาที่ใช้กว่าจะเห็นผลได้ก็ต้องใช้เวลานาน อาหารเสริมสำหรับโรคกระดูกบางและกระดูกพรุนจะช่วยให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีได้เร็วขึ้น เนื่องจากถูกปรุงมาเพื่อให้บำรุงร่างกายและกระดูกได้อย่างตรงจุดและมีความเข้มข้นของสารอาหารมากและบริโภคได้ง่าย
4. การบำบัดด้วยการออกกำลังกาย
แม้การออกกำลังกายจะมีส่วนช่วยให้กระดูกมีความแข็งแรงมากขึ้น แต่สำหรับผู้ที่มีปัญหากระดูกบางและกระดูกพรุนแล้ว การเลือกชนิดของการออกกำลังกายเป็นเรื่องสำคัญมากๆ เพราะถ้าเลือกชนิดของการออกกำลังกายได้ถูกต้องและเหมาะสมแล้ว จะส่งผลดีต่อกระดูกคือ ช่วยให้ความหนาแน่นของมวลกระดูกเพิ่มขึ้น แต่ถ้าหากเลือกผิดอาจทำให้อาการเลวร้ายลงไปอีก ถึงขึ้นกระดูกหักหรือกระดูกแตกได้
การออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้ที่มีปัญหากระดูกบางและกระดูกพรุนส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการออกกำลังกายแบบสร้างสมดุล เช่น โยคะ ซึ่งสร้างภาระให้กับกระดูกและกล้ามเนื้อน้อย หรือเป็นท่าออกกำลังกายแบบเฉพาะ ซึ่งจำเป็นต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการประเมินความแข็งแรงของร่างกาย และรับคำแนะนำในเรื่องของการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับแต่ละคน
สำคัญ คือ อย่าล้ม เพราะถ้าล้มขึ้นมาเมื่อไหร่ หมายถึง ความเสี่ยงที่จะเกิดการบาดเจ็บจากกระดูกหักหรือกระดูกแตกได้
อ้างอิง
https://en.wikipedia.org/wiki/Osteoporosis
http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/osteoporosis/in-depth/osteoporosis-treatment/art-20046869
http://www.dentistry.go.th/tec_detail.php?techno_id=31
http://www.iofbonehealth.org/osteoporosis-musculoskeletal-disorders/osteoporosis/prevention/calcium/calcium-content-common-foods