การดื่มชาเป็นประจำทำให้เป็นโรคกระดูกพรุนหรือไม่ ?

ผู้เขียน teerinjue |

สารบัญ

ชาเขียวเป็นชาที่ได้รับความนิยมมากในแถบทวีปเอเซีย

ชาเขียวเป็นชาที่ได้รับความนิยมมากในแถบทวีปเอเซีย

ชาถูกมองว่าเป็นเครื่องดื่มที่มีสารชีวเคมีที่ซับซ้อนกว่ากาแฟ โดยทั่วไปแล้วชาจะมีอยู่ 3 ประเภท คือ ชาดำ (Black Tea) ชาเขียว (Green Tea) และชาอู่หลง (Oolong Tea) ในใบชาจะมีคาเฟอีน โดยความเข้มข้นของคาเฟอีนจากใบชาจะน้อยกว่า 50% ของความเข้มข้นของคาเฟอีนจากกาแฟ ปริมาณคาเฟอีนของใบชาโดยทั่วไปจะอยู่ 36 – 40 มิลลิกรัมต่อน้ำชา 150 มิลลิลิตร อย่างไรก็ตาม ชาต่างชนิดกันย่อมมีความเข้มข้นของคาเฟอีนที่ต่างกัน

นอกจากนี้ ในใบชายังประกอบไปด้วยสารสำคัญมากมายหลากหลายชนิด เช่น ฟลาโวนอยด์ (Flavoniods) และโพลีฟีนอล (Polyphenols) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและแทนนิน (Tannins) ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย จึงใช้เป็นยาแก้ท้องร่วง แก้บิดและสมานแผลได้

ชาเป็นเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดรองลงมาจากน้ำดื่ม คนในประเทศจากชาติตะวันตกนิยมการดื่มชาดำ ส่วนคนในประเทศจากชาติเอเชียนิยมดื่มชาเขียวและชาอู่หลง การผลิตใบชาทั้งโลกนี้ 78% จะเป็นชาดำ 20% ชาเขียว และอีก 2% จะเป็นชาอู่หลง

ผลของการดื่มชาที่มีต่อสุขภาพโดยรวม

การศึกษาทางระบาดวิทยาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของการดื่มชากับโรคชนิดต่างๆมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะในใบชามีองค์ประกอบที่เป็นสารฟิโนลิค (Phenolic) มีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบ เป็นสารต้านการกลายพันธุ์และสารต้านอนุมูลอิสระชั้นดี โดยมีผลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

มีหลักฐานมากขึ้นเรื่อยๆที่แสดงให้เห็นว่า การบริโภคชาอาจจะช่วยลดความเสี่ยงของโรคระบบหลอดเลือดและหัวใจ

ดูเหมือนว่าการดื่มชาเขียว จะมีส่วนเกี่ยวข้องเสมอกับการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง อย่างน้อยก็มะเร็งทางเดินอาหาร และมะเร็งปอดสำหรับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ เหตุผลอาจเป็นเพราะว่าสารต้านอนุมูลอิสระในชาเขียวมีมากกว่า ชาดำและชาอู่หลง หรือเป็นเพราะว่า การบริโภคชาดำมีน้อยกว่าชาเขียวในกลุ่มตัวอย่างที่ทำการศึกษาเรื่องนี้

มีหลักฐานบางอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการได้รับสารฟลูออไรด์จากชา มีฤทธิ์ในการป้องกันฟันผุ

ผลเสียของการดื่มชาต่อสุขภาพเป็นสิ่งที่ควรพิจารณา เช่น ชามีคาเฟอีน การดื่มชาอาจนำไปสู่ภาวะร่างกายขาดน้ำ และความสามารถในการดูดซึมธาตุเหล็กที่ได้จากพืชลดลง อย่างไรก็ตาม ผลเสียเหล่านี้แทบจะไม่มีความสำคัญ ถ้าเราบริโภคชาแต่พอดี กล่าวคือ วันละไม่เกิน 6-8 แก้ว

ความสัมพันธ์ของการบริโภคชาและกระดูก

ใบชา (โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาเขียว) มีสารที่เรียกว่า ฟลาโวนอยด์ อยู่เป็นจำนวนมาก จากการทดลองในร่างกายของสิ่งมีชีวิตและการทดลองในแบบจำลอง ดูเหมือนว่าสารชนิดนี้ให้ผลดีกับระบบการสร้างและสลายตัวของกระดูก หรือเรียกว่า ระบบเมตาบอลิซึ่มของกระดูก (เซลล์กระดูกก็เหมือนเซลล์ในร่างกายทั่วไป ที่มีการสร้างและสลายตลอดเวลา) โดยมีกระบวนการที่มีความสัมพันธ์กับการยับยั้งการสลายตัวของกระดูก มีการลดเซลล์สลายกระดูก (Osteoclasts อ่านว่า ออสติโอคลาส) แต่ไม่ลดเซลล์สร้างกระดูก (Osteoblasts อ่านว่า ออสติโอบลาสต์) แถมยังช่วยให้เซลล์สร้างกระดูกมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้นอีกด้วย

ในอีกทางหนึ่ง สารฟลาโวนอยด์ถูกพบว่ามีคุณสมบัติในการเพิ่มค่า BMD (Bone Mineral Density) หรือความหนาแน่นของมวลกระดูกได้ ดังนั้น ค่า BMD เพิ่มได้ด้วยการดื่มชาเป็นประจำ ผลของสารโพลีฟีนอลและสารแทนนินในใบชา อาจส่งผลดีทางอ้อมให้แก่ค่า BMD ในกระบวนการเมตาบอลิซึ่มของเกลือแร่ หรือจะพูดอีกอย่างก็ได้ว่า สุขภาพของกระดูกสามารถพัฒนาได้ ด้วยกระบวนการต้านสารอนุมูลอิสระ ที่ได้มาจากสารโพลีฟีนอลในใบชานั่นเอง

สารประกอบฟีโนลิคในใบชาบางชนิดมีฤทธิ์เป็นเอสโตรเจนอ่อนๆ (เอสโตรเจน คือ ฮอร์โมนเพศหญิงชนิดหนึ่ง) ที่ช่วยกระตุ้นกระบวนการสร้างกระดูกหากได้รับในระดับความเข้มข้นน้อย แต่จะไปยังยั้งการสร้างกระดูกหากได้รับในปริมาณความเข้มข้นสูง

และสุดท้าย มีการค้นพบมาอย่างยาวนานแล้วว่าการได้รับฟลูออไรด์จะช่วยต้านหรือชะลอการเกิดโรคกระดูกพรุน ดังนั้น สารฟลูออไรด์ที่มีอยู่มากในใบชา อาจมีส่วนช่วยป้องกันกระดูกและช่วยให้ค่า BMD อยู่ในระดับปกติได้

หลักในการบริโภคชาให้ได้ประโยชน์สูงสุด

ดื่มชาร้อนมีประโยชน์มากกว่าดื่มชาเย็น เพราะมีสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่า

ดื่มชาร้อนมีประโยชน์มากกว่าดื่มชาเย็น เพราะมีสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่า

1. อย่าชงชาทิ้งไว้นานๆแล้วนำมาดื่ม เป็นธรรมดาที่การดื่มชาต้องมีการชงในน้ำร้อนเสียก่อน เพื่อให้สารต่างๆจากใบชาถูกละลายออกมา สารที่ถูกละลายออกมานั้นมีสารสำคัญ เช่น ฟลาโวนอยด์และโพลีฟีนอล ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ สารพวกนี้สามารถทำปฏิกิริยากับอากาศและสลายไปได้ค่อนข้างง่าย ดังนั้น เราควรดื่มชาตอนที่ยังร้อนอยู่ เพื่อให้ได้รับสารต้านอนุมูลอิสระเต็มที่ หากเราชงชาแล้วทิ้งไว้นานเกินไปข้ามวันข้ามคืน นอกจากจะทำให้รสชาติของชาเสีย สีเปลี่ยนไปและกลิ่นไม่หอมแล้ว สารต้านอนุมูลอิสระที่เราควรได้จากการดื่มชาก็หายไปด้วย

2. ดื่มชาร้อนดีกว่าชาเย็น ตามหลักการแพทย์ทางเลือกการดื่มน้ำที่ดีที่สุด คือ การดื่มน้ำอุณหภูมิห้อง น้ำไม่แช่เย็น หรือน้ำอุ่น เพราะความร้อนจะช่วยให้เลือดไหลเวียนดีทั่วร่างกาย การดื่มชาร้อนจึงช่วยให้เลือดสามารถนำพาและกระจายสารสำคัญจากใบชาไปทั่วร่างกายได้อย่างสะดวก

3. การชงชามีส่วนสำคัญ การชงชาที่ดีต้องให้น้ำอยู่ที่อุณหภูมิ 98 องศาเซลเซียส โดยใช้เวลาในการชงประมาณ 3 -5 นาที จึงจะช่วยละลายสารสำคัญจากใบชาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. ชาเขียวสำเร็จรูปที่ใส่ขวดขายตามร้านสะดวกซื้อมีน้ำตาลเยอะมาก (และอาจไม่มีสารต้านอนุมูลอิสระเหลืออยู่แล้ว) ถ้าเลี่ยงได้ก็ให้เลี่ยง แต่ถ้าอยากดื่มจริงๆให้เลือกยี่ห้อที่มีน้ำตาลน้อย การบริโภคน้ำตาลมากเกินไปนอกจากจะทำให้อ้วนแล้ว ยังส่งผลให้ระบบเผาผลาญของร่างกายทำงานหนัก บริโภคในปริมาณมากอย่างต่อเนื่องอาจจะเป็นเบาหวานแทนที่จะได้ประโยชน์จากการดื่มชา

5. บริโภคชาแต่พอดี การบริโภคชาอย่างพอดีจะช่วยให้ได้ประโยชน์ต่อร่างกายสูงสุด แนะนำให้ดื่มได้ไม่เกินวันละ 3 แก้ว (หนึ่งแก้ว = 150 มิลลิลิตร)

สรุป

จากข้อมูลที่ได้ค้นคว้าจากงานวิจัย ชามีสารสำคัญที่มีประโยชน์ต่อกระดูก และมีแนวโน้มที่จะช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนได้ เราจึงควรหันมาบริโภคชามากกว่าที่จะไปดื่มกาแฟหรือน้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลจำนวนมาก ที่มีแนวโน้มจะทำให้สูญเสียมวลกระดูกและป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนได้ในระยะยาว การดื่มชาต้องดื่มให้ถูกวิธี ดื่มร้อน ไร้น้ำตาล ชงให้นานพอ นั่นเป็นการดื่มชาที่มีศิลปะและมีประโยชน์ต่อร่างกายมากที่สุดแล้ว

อ้างอิง

https://uu.diva-portal.org/smash/get/diva2:609884/FULLTEXT01.pdf

ธีริน เจริญอนันต์กิจ

ประสบการณ์ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมญี่ปุ่น 8 ปีในฐานะวิศวกร แต่มีความสนใจทางด้านการออกกำลังกาย สุขภาพ สมุนไพรและอาหารเสริม รวมถึงมีความสนใจด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ชื่นชอบการเผยแพร่ข้อมูลความรู้ผ่านการเขียนบล็อก สนุกกับการทำการตลาดออนไลน์ และเป็นนักเก็งกำไรในตลาดทุน

วิตามินดีมีประโยชน์กับโรคกระดูกพรุนอย่างไร?

ด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนในยุคปัจจุบันที่มักจะนั่งทำงานในที่ร่มและไม่ค่อยรับแสงแดด ส่งผลให้ร่างกายมักจะขาดวิตามินชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า "วิตามินดี" วิตามินดีเป็นวิตามินที่มีความสำคัญต่อกระดูก เพราะเป็นวิตามินที่ช่วยในการดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกาย...

read more

เคล็ดไม่ลับการกินอาหารต้านและชะลอกระดูกพรุน

อาหารมีส่วนสำคัญต่อความแข็งแรงของกระดูก เพราะเป็นสิ่งที่เราบริโภคเข้าสู่ร่างกายทุกวัน วันละอย่างน้อย 3 มื้อ ทุกครั้งที่เราทานอาหารเข้าไป ร่างกายจะทำการย่อยและดูดซึมสารอาหารโดยอวัยวะต่างๆ หากอาหารที่เราบริโภคเป็นอาหารที่มีประโยชน์...

read more