ภาวะคนท้องหรือตั้งครรภ์กับโรคกระดูกพรุน

ผู้เขียน teerinjue |

สารบัญ

ระยะตั้งครรภ์

ระยะตั้งครรภ์

ช่วงตั้งครรภ์เป็นระยะของความเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านสรีระและฮอร์โมนในร่างกาย เพื่อรองรับชีวิตใหม่ที่กำลังเติบโตอยู่ในตัวของคุณแม่ โดยมีการเพิ่มขึ้นของระบบเผาผลาญที่เกี่ยวข้องกับกระดูก ร่างกายจำเป็นต้องใช้แคลเซียมจำนวนมากเพื่อสร้างความเจริญเติบโตให้กับลูกในท้อง น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นและช่องเชิงกรานขยายตัว เป็นการเพิ่มภาระและแรงกดดันให้กับกระดูก เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ ความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่กล่าวมาส่งผลให้กระดูกมีความแข็งแรงน้อยลง และอาจเกิดภาวะกระดูกพรุนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ได้

โรคกระดูกพรุนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์คืออะไร ?

โรคกระดูกพรุนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนัก อาการของโรคคือ คุณแม่จะมีอาการกระดูกร้าว หัก หรือแตกได้ง่ายระหว่างตั้งครรภ์หรือหลังคลอดบุตรแล้วเป็นเวลาหลายสัปดาห์ โดยกระดูกที่มักจะเกิดปัญหามากที่สุด คือ กระดูกสันหลังและรองลงมาคือ กระดูกสะโพก ในขณะที่ภาวะนี้จะส่งผลให้มีความเจ็บปวดและร่างกายอ่อนแอ ร่างกายของสตรีส่วนมากจะพยายามเยียวยารักษาตนเองอย่างรวดเร็วและกลับเป็นปกติได้โดยสมบูรณ์ โรคกระดูกพรุนที่เกียวข้องกับการตั้งครรภ์เป็นภาวะชั่วคราวระยะสั้น คุณแม่ส่วนมากมักจะไม่มีปัญหานี้อีกในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรค ?

ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคกระดูกพรุนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ จำเป็นต้องมีการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น เพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริง มีความเป็นไปได้ว่า สตรีที่เกิดภาวะนี้อาจมีมวลกระดูกน้อยอยู่ก่อนตั้งครรภ์แล้ว ผลจากโรคเรื้งรังบางชนิด การใช้ยาบางประเภทหรือพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน และระบบเผาผลาญที่เกี่ยวข้องกับกระดูกที่มีเพิ่มมากขึ้นตามธรรมชาติในช่วงของการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้กับกระดูก

ช่วงระหว่างการตั้งครรภ์ร่างกายมีความต้องการใช้แคลเซียมที่เก็บอยู่ที่กระดูกจำนวนมาก อาหารบำรุงกระดูกที่มีปริมาณวิตามินดีและแคลเซียมที่เหมาะสมจะช่วยชดเชยแคลเซียมที่ใช้ไปได้ มีสตรีหรือคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เพียงจำนวนน้อยเท่านั้นที่ได้รับปริมาณวิตามินดีและแคลเซียมไม่เพียงพอ จนนำไปสู่ภาวะที่ร่างกายชดเชยแคลเซียมได้ไม่ทันกับที่ใช้ไป ซึ่งนำไปสู่ปัญหากระดูกอ่อนแอในระหว่างที่ตั้งครรภ์

มียาชนิดไหนบ้างที่จะทำให้เป็นโรคกระดูกพรุนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ได้ ?

คุณแม่บางคนจำเป็นต้องใช้ยา heparin (เฮพาริน) เพื่อที่จะต้านการแข็งตัวของเลือดระหว่างการตั้งครรภ์ เนื่องจากคุณแม่มีอาการแอนไทฟอสโฟไลปิดหรือเลือดแข็งตัวง่ายกว่าปกติ ซึ่งเป็นอาการที่อันตรายต่อทารกในครรภ์ งานวิจัยบางชิ้นแสดงให้เห็นว่าเฮพารินเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคกระดูกพรุนและมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะกระดูกแตกหัก ยาชนิดนี้จึงเป็นสาเหตุของโรคกระดูกพรุนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ได้

ภาวะกระดูกแตกร้าวเนื่องจากโรคกระดูกพรุนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์มีผลอย่างไรบ้าง ?

อาการปวดหลังเป็นสิ่งที่พบได้บ่อยในสตรีมีครรภ์ ซึ่งอาจเกิดจากกระดูกสันหลังร้าวที่เกียวข้องกับโรคกระดูกพุรนขณะตั้งครรภ์ได้

อาการปวดหลังเป็นสิ่งที่พบได้บ่อยในสตรีมีครรภ์ ซึ่งอาจเกิดจากกระดูกสันหลังร้าว

อาการกระดูกแตกร้าวมักจะเกิดตอนคลอดบุตรหรือหลังจากคลอดบุตรประมาณ 8 – 12 สัปดาห์หลังจากคลอดบุตร ซึ่งอาการแบบนี้ดูเหมือนว่าจะเกิดขึ้นได้กับคุณแม่ทุกวัย

มวลกระดูกที่น้อยลงและความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างกระดูกไม่ได้ถูกมองว่าเป็นสาเหตุของความเจ็บปวด กระดูกต้องอยู่ในภาวะที่แตก ร้าว หรือหักเท่านั้นจึงจะมีความเจ็บปวดปรากฏขึ้นได้ บางครั้งอาจมีความเจ็บปวดมากอย่างเฉียบพลันหรือบางครั้งอาจจะค่อยๆเจ็บมากขึ้นทีละน้อยก็ได้ โดยมากแล้วอาการเจ็บที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์จะเกิดจากการแตกร้าวหรือยุบตัวของกระดูกสันหลัง และอาจเกิดขึ้นได้กับกระดูกสะโพกแต่มีความถี่ที่น้อยกว่า

คุณแม่จำนวนมากต้องประสบกับอาการเจ็บหลัง เนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงของเส้นเอ็นและแรงกดดันที่เกิดในกระดูกสันหลังและกระดูกเชิงกราน (กระดูกสะโพก) ไม่บ่อยนักที่จะมีอาการเจ็บจากกระดูกแตกร้าว อย่างไรก็ตาม หากมีการแตกร้าวเกิดขึ้น ความเจ็บปวดมักจะรุนแรงและมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยที่ส่วนสูงอาจจะลดลง หลังงอ เคลื่อนไหวลำบาก และอาจมีท่าทางของร่างกายหรือบุคคลิกลักษณะที่เปลี่ยนไป แม้จะหายจากอาการกระดูกสันหลังแตกร้าวแล้ว

อย่างไรก็ตาม คุณแม่ส่วนมากหลังจากที่หายจากภาวะกระดูกแตกร้าวแล้ว สามารถกลับมามีสุขภาพดีและร่างกายที่แข็งแรงได้ ซึ่งธรรมชาติได้สร้างพลังมหัศจรรย์ในการเยียวยาร่างกายของผู้เป็นแม่ไว้เป็นอย่างดี

เราจะทราบได้อย่างไรว่ามีภาวะกระดูกพรุนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์

ฟิล์มเอกซ์เรย์ที่แสดงให้เห็นถึงกระดูกสันหลังและกระดูกสะโพก

ฟิล์มเอกซ์เรย์ที่แสดงให้เห็นถึงกระดูกสันหลังและกระดูกสะโพก

เนื่องจากโรคกระดูกพรุนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์เป็นโรคที่เกิดขึ้นน้อย แพทย์ส่วนมากจึงไม่ได้มุ่งประเด็นไปที่โรคนี้เมื่อคนไข้มีอาการปวดหลังมากนัก เพราะอาการปวดหลังเป็นอาการที่พบได้ทั่วไปของคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์แทบทุกคน และแพทย์เองก็ไม่อยากที่จะเอ็กซ์เรย์เพื่อวิเคราะห์สาเหตุ เพราะมีผลกับเด็กในครรภ์ ดังนั้น การวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุของอาการปวดหลังจึงเกิดขึ้นหลังจากที่คุณแม่คลอดบุตรแล้ว

หากคุณแม่มีอาการปวดหลังอย่างต่อเนื่องจนหลังการคลอดก็ยังไม่ดีขึ้น แพทย์จำเป็นต้องวิเคราะห์หาสาเหตุและตรวจดูกระดูกของคุณแม่ โดยอาจใช้วิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายวิธีดังต่อไปนี้

  • การเอ็กซ์เรย์ (X-Rays) ถ้ากระดูกมีรอยแตกร้าว แพทย์สามารถมองเห็นรอยแตกร้าวนั้นผ่านฟิล์มเอ็กซ์เรย์ได้
  • การตรวจความหนาแน่นมวลกระดูก (หรือการตรวจค่า BMD โดยใช้เครื่อง DXA ) ค่าที่ได้จะการตรวจสอบจะบอกถึงความแข็งแรงของกระดูก ถ้าค่าต่ำกว่ามาตราฐานก็หมายถึง ป่วยเป็นโรคกระดูกบางหรือโรคกระดูกพรุน
  • การตรวจเลือด (Blood test) เพื่อหาสาเหตุอื่นๆที่อาจทำให้เป็นโรคกระดูกพรุนได้
  • เรดิโอไอโซโทปสแกน (Radioisotope Scan) จะช่วยแสดงจุดที่กระดูกอาจเกิดการแตกร้าวออกมาเป็นสีสว่าง (hot spot)
  • MRI (Magnetic Resonance Imaging)

แพทย์จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าวิธีไหนจำเป็น ? หากตรวจพบว่าสาเหตุของอาการปวดเกิดจากกระดูกแตกร้าวเนื่องมาจากกระดูกพรุน ขอให้คุณแม่ใจเย็นและไม่ต้องกังวลอะไรมาก เพราะโดยส่วนมากแล้วอาการมักจะค่อยๆดีขึ้นและหายได้เองตามธรรมชาติ หากมีความจำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีการพิเศษแพทย์จะแจ้งให้เราทราบเอง

การดูแลรักษา

โดยมากแล้ว หากปัญหาเกิดที่กระดูกสันหลัง กระดูกจะเยียวยารักษาตัวเองได้ในเวลา 6 สัปดาห์ ช่วงแรกที่เป็นอาจจะมีอาการปวดมากหน่อย แต่จากสถิติของสตรีที่คลอดลูกจำนวนมากมายพบว่า อาการปวดจะค่อยๆดีขึ้นและหายไป แนวทางในการดูแลรักษามีดังต่อไปนี้

1. อาหาร

ควรเน้นการทานอาหารให้ได้สัดส่วน เพื่อสมดุลกรดด่างของร่างกาย และมีสารอาหารสำคัญสำหรับบำรุงสุขภาพของกระดูก 20 ชนิด รายละเอียดเพิ่มเติมอ่าน อาหารสำหรับกระดูกพรุน

2. อาหารเสริม

หากเราทานอาหารให้ได้เพียงพอต่อการบำรุงสุขภาพกระดูกแล้ว อาหารเสริมย่อมไม่ใช่เรื่องจำเป็นแต่อย่างใด แต่ในความเป็นจริงแล้ว คุณแม่ที่มีปัญหาเรื่องกระดูกพรุน มีความต้องการสารอาหารที่มากกว่าคนร่างกายปกติ ทั้งในแง่ของสารอาหารเพื่อไปรักษากระดูกพรุนและสารอาหารเพื่อบำรุงร่างกายเพื่อใช้ในการผลิตน้ำนมเลี้ยงบุตร อาหารเสริมจึงอาจมีส่วนสำคัญสำหรับคุณแม่ลูกยังเล็กหลายท่าน รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก เคล็ดไม่ลับการใช้อาหารเสริมสำหรับกระดูกพรุนให้ได้ผลดี

3. การใช้ยา

ยาที่จำเป็นต้องใช้หลักๆจะมีอยู่สองแบบ คือ ยาแก้ปวด ที่ใช้ในกรณีที่มีอาการปวดมากและยาแก้กระดูกพรุนที่มีชื่อว่า แคลซิโทนิน (Calcitonin) ที่ใช้ในการลดฮอร์โมนพาราไทรอยด์เพื่อเพิ่มแคลเซียมให้กับกระดูก โปรดทราบไว้ว่า ยามีผลข้างเคียง การใช้ยาเหล่านี้ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น

4. การเข้าเฝือกหรือใช้เครื่องพยุงหลัง

หากกระดูกสันหลังมีอาการร้าวเนื่องจากการตั้งครรภ์ (vertebral fracture = กระดูกสันหลังร้าวหรือยุบตัวเพียงเล็กน้อย) จะเป็นอาการที่เป็นได้และหายได้เอง ไม่จำเป็นต้องเข้าเฝือกแต่อย่างใด หลายคนอาจต้องการใช้เครื่องพยุงหลัง (corsets) ก็สามารถใช้ได้ แต่ควรใช้ในระยะสั้นจะดีกว่า เพราะมีผลต่อกล้ามเนื้อหลัง ใช้มากเกินไปทำให้กล้ามเนื้อหลังไม่ได้ทำงานและอ่อนแอลงได้

การออกกำลังกาย

ตามความเข้าใจของคนส่วนมาก หากเรามีอาการกระดูกร้าวไม่ว่าบริเวณไหนก็ตาม ไม่ควรเคลื่อนไหวร่างกาย เพราะจะทำให้หายยาก หายช้า ซึ่งเป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว ถึงแม้ว่าเราจะมีอาการกระดูกร้าว แต่ถ้าเราพอเคลื่อนไหวได้และหมออนุญาตให้ออกกำลังกายในท่าเฉพาะเบาๆได้ เราก็ควรเลือกที่จะออกกำลังกายมากกว่าการนั่งเฉยๆ การนั่งๆนอนๆเป็นเวลานาน นอกจากจะสร้างนิสัยขี้เกียจแล้ว ยังส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง เพราะไม่ได้ใช้งาน และอาจมีภาวะเลือดไหวเวียนติดขัดได้อีกด้วย

การออกกำลังกายที่เหมาะสมกับคุณแม่ที่มีปัญหากระดูกร้าวเนื่องจากการตั้งครรภ์ได้แก่ การออกกำลังกายในน้ำอุ่น (Hydrotherapy) การออกกำลังกายแบบนั่งบนเก้าอี้ (Sitting Exercise) หรือการออกกำลังกายเบาๆชนิดอื่นตามความเหมาะสม โดยอยู่ภายใต้คำแนะนำและการดูแลของผู้เชี่ยวชาญ

การป้องกัน

กันไว้ดีกว่าแก้ยังเป็นสำนวนที่ใช้ได้ดีกับการดูแลสุขภาพเสมอ การป้องกันโรคกระดูกพรุนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ เป็นเรื่องที่ต้องทำตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยชราและทำไปจนตลอดชีวิต เพราะความแข็งแรงของกระดูกต้องใช้เวลาในการสร้างโดยการสะสมแร่ธาตุสำคัญต่างๆโดยเฉพาะแคลเซียม การป้องกันจึงมุ่งเน้นไปที่การสร้างความแข็งแรงของกระดูกไว้ตลอดเวลา เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของกระดูกและร่างกายเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์

1. การทานอาหาร

การทานอาหารเพื่อให้กระดูกมีความแข็งแรง จำเป็นต้องทานอาหารให้หลากหลาย ได้สัดส่วนและปริมาณ เพื่อให้ร่างกายมีความสมดุลโดยเน้นผักผลไม้และธัญพืช กระดูกต้องการสารอาหารสำคัญ 20 ชนิด (สารอาหารทุกชนิดสำคัญต่อกระดูก แต่มีสารอาหารหลัก 20 ชนิด) เพื่อใช้ในการเสริมสร้างความแข็งแรง โดยมีสารอาหารสำคัญหลักอยู่ 3 ชนิด ที่ค่อนข้างมีผลต่อการเสริมสร้างกระดูกมาก อันได้แก่ แคลเซียม วิตามินดี และแมงกานีส

2. การออกกำลังกาย

ไม่ว่าคุณแม่จะตั้งครรภ์อยู่หรือไม่ ? การออกกำลังกายเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง กระดูกก็เหมือนกับกล้ามเนื้อ หากเราใช้งานมันเป็นประจำมันจะมีความแข็งแรงมากขึ้นๆ การออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกที่ได้ผลดี คือ การออกกำลังกายที่ต้องอาศัยการต้านแรงโน้มถ่วง เช่น การวิ่ง กีฬาที่มีการกระโดด การยกน้ำหนัก การเต้นแอโรบิค เป็นต้น หลายท่านเข้าใจผิดว่าช่วงที่ตั้งครรภ์เป็นช่วงที่ออกกำลังกายไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงการออกกำลังกายอย่างถูกวิธีในช่วงที่ตั้งครรภ์กลับให้ผลดีดังต่อไปนี้

  • ช่วยลดอาการปวดหลัง ท้องผูก ท้องอืด และการบวมน้ำ
  • ช่วยป้องกันโรคเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์
  • เพิ่มพลังงาน
  • ช่วยให้เคลือนไหวได้คล่องแคล่ว
  • ช่วยให้อารมณ์ดี
  • เสริมสร้างความแข็งแรงและความทนทานของกระดูก กล้ามเนื้อ
  • ช่วยให้นอนหลับสบาย
  • ช่วยให้รูปร่างดีได้ไว้หลังจากคลอดบุตรแล้ว

อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกายสำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านการออกกำลังกายเท่านั้น

3. พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน

การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ การนอนแต่หัววัน การลดและหลีกเลี่ยงความเครียด การงดทานอาหารที่ทำลายมวลกระดูก เช่น เหล้า เบียร์ เนื้อสัตว์ในปริมาณที่มากเกินไปแล้ว ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องและมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกทั้งสิ้น ดังนั้น เราต้องพยายามดูแลพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของเราให้ดี เพื่อการเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกอย่างแท้จริง

สรุป

โรคกระดูกพรุนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับคุณแม่ทุกคน แต่โอกาสการเกิดน้อย คุณแม่ที่วางแผนจะมีลูกหรือกำลังตั้งครรภ์หรือคลอดบุตรแล้ว จึงไม่ควรกังวลกับเรื่องนี้มากจนเกินไป และถึงแม้ว่าอาจจะเป็นโรคนี้แล้ว ส่วนมากร่างกายของคุณแม่จะเยียวยาตัวเองได้อย่างดีตามธรรมชาติ หากมีอาการกระดูกร้าวมากหรือมีความจำเป็นที่ต้องมีการรักษาเพิ่มเติม หน้าที่นี้จะเป็นของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ สิ่งที่ควรให้ความสำคัญที่สุดคือ การดูแลเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย และพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อร่างกายที่แข็งแรง มากพอจะให้น้ำนมให้ลูกได้ เพื่อให้เค้าเติบโตสมวัย ฉลาด และเป็นเด็กแข็งแรง

ธีริน เจริญอนันต์กิจ

ประสบการณ์ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมญี่ปุ่น 8 ปีในฐานะวิศวกร แต่มีความสนใจทางด้านการออกกำลังกาย สุขภาพ สมุนไพรและอาหารเสริม รวมถึงมีความสนใจด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ชื่นชอบการเผยแพร่ข้อมูลความรู้ผ่านการเขียนบล็อก สนุกกับการทำการตลาดออนไลน์ และเป็นนักเก็งกำไรในตลาดทุน

วิตามินดีมีประโยชน์กับโรคกระดูกพรุนอย่างไร?

ด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนในยุคปัจจุบันที่มักจะนั่งทำงานในที่ร่มและไม่ค่อยรับแสงแดด ส่งผลให้ร่างกายมักจะขาดวิตามินชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า "วิตามินดี" วิตามินดีเป็นวิตามินที่มีความสำคัญต่อกระดูก เพราะเป็นวิตามินที่ช่วยในการดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกาย...

read more

เคล็ดไม่ลับการกินอาหารต้านและชะลอกระดูกพรุน

อาหารมีส่วนสำคัญต่อความแข็งแรงของกระดูก เพราะเป็นสิ่งที่เราบริโภคเข้าสู่ร่างกายทุกวัน วันละอย่างน้อย 3 มื้อ ทุกครั้งที่เราทานอาหารเข้าไป ร่างกายจะทำการย่อยและดูดซึมสารอาหารโดยอวัยวะต่างๆ หากอาหารที่เราบริโภคเป็นอาหารที่มีประโยชน์...

read more