สารบัญ

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหรือที่คนไทยนิยมเรียกว่า มาม่า เป็นอาหารที่มีโซเดียมสูงมาก
ตั้งแต่เล็กจนโตผู้เขียนเคยได้ยินเรื่องเล่าน่ากลัวเรื่องหนึ่งจากคุณแม่ที่ทานเล่าให้ฟังแล้วจำฝังใจมาจนถึงทุกวันนี้ ทั้งที่หลายท่านได้ยินแล้วอาจจะคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติธรรมดาทั่วไป เพราะมันเป็นเรื่องของมาม่า ไวไว ยำยำ หรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทุกๆชนิดในท้องตลาด
เรื่องมีอยู่ว่ามีเด็กคนหนึ่งสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ จากนั้นก็เข้าไปอยู่ในหอพัก และทานอาหารที่เรียกว่า “มาม่า” เป็นประจำ เพราะคิดว่าการทานอาหารในลักษณะนี้จะช่วยให้ประหยัดเงิน และก็ประหยัดได้จริงๆ
3-4 หลายปีผ่านไปเด็กคนนี้ไม่สบาย ไม่ทราบอาการจริงๆครับว่าเป็นแบบไหน แต่พอไปหาหมอแล้ว หมอวินิจฉัย ออกมาว่า กระดูกพรุน ทั้งๆอายุยังน้อยมาก แค่ยี่สิบต้นๆเท่านั้นเอง และมีอีกหลายโรคที่ผมเองก็จำไม่ได้ ทราบเพียงแต่ว่าสุดท้ายแล้ว “เธอเสียชีวิต” ครับ
หลายท่านฟังเรื่องที่คุณแม่ผมเล่าแล้วอาจจะสงสัยว่า “มาม่าทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้อย่างไร ?” ผมเองก็สงสัยไปไม่น้อยกว่าทุกท่านก็เลยต้องไปสืบเสาะหาข้อมูลมา จนคิดว่าได้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงอันน่าสนใจ ซึ่งจะนำมาถ่ายทอดกันให้ฟังในบทความนี้ครับ
การทานมาม่ามากเกินไปทำให้กระดูกพรุน ?
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหรือที่คนทั่วไปนิยมเรียกกันว่า มาม่า เป็นอาหารจานด่วนยอดนิยมของคนทั่วโลกรวมถึงคนไทยด้วย เพราะมีรสชาติอร่อย อิ่มท้อง แถมยังราคาถูกอีกด้วย การรับประทานบะหมี่กึงสำเร็จรูปจึงเป็นทางเลือกของผู้ที่มีเวลาน้อย ทำงานหนักและมีความเร่งรีบ รวมถึงผู้ที่ไม่ค่อยมีทรัพย์อีกด้วย 🙂
ผู้เขียนเชื่อว่า มีคนส่วนน้อยที่จะพลิกหลังซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแล้วอ่านข้อมูลคุณค่าทางอาหารจากฉลาก แล้วพิจารณาถึงสารอาหารที่เราจะได้รับว่าเหมาะสมและเพียงพอกับร่างกายของเราหรือไม่ ?
ลองไปดูกันนิดนึงครับว่าหลังซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีข้อมูลอะไรบ้าง ?

ข้อมูลหรือฉลากโภชนาการของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
ส่วนที่เป็นประเด็นในเรื่องนี้ คือ “โซเดียม” ครับ ซึ่งเป็นส่วนที่แสดงถึงปริมาณเกลือที่ผสมอยู่ในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ถ้าเราอ่านข้อมูลเป็นจะพบว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหนึ่งซองมีปริมาณโซเดียมค่อนข้างสูง คือ 43% DV (Percent Daily Value) ซึ่งหมายความว่า การที่เราทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพียงหนึ่งซองจะทำให้ร่างกายได้รับโซเดียมถึง 43% ของความจำเป็นที่ร่างกายต้องการโซเดียมต่อวัน นั่นหมายความว่า ถ้าเราทานวันบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปวันละ 2 ซอง ผลที่ได้คือ ร่างกายเราได้รับโซเดียมในปริมาณ 43 * 2 = 86% ซึ่งเกือบเท่ากับปริมาณโซเดียมที่จำเป็นต่อวันแล้ว!
ลองนึกภาพว่า อาจจะมีคนบางกลุ่มที่เค้าจำเป็นต้องทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปวันละ 3 ซอง ปริมาณโซเดียมที่จะได้รับ คือ 3 * 43% = 129% ซึ่งเป็นปริมาณที่เกินความจำเป็นและเป็นอันตรายต่อร่างกาย
แพทย์แนะนำให้คนเราทานเกลือได้ไม่เกินวันละ 1 ช้อนชา (เทียบได้กับการบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,300 มิลลิกรัม ต่อวัน) แต่การรับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพียง 2 ซองก็ทำให้เราได้รับปริมาณเกลือเกือบที่จะเกินความต้องการของร่างกายแล้ว ยังไม่นับรวมอาหารชนิดอื่นที่เราทานในแต่ละวัน ที่ถูกปรุงและผสมไปด้วยเกลือในรูปแบบต่างๆ เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว กะปิ ซอสปรุงรส ผงชูรส ทำให้จริงๆแล้วคนทั่วไปอาจจะได้รับเกลือในหนึ่งวันมากถึง 2 ช้อนชา ซึ่งหมายถึง ร่างกายได้รับเกลือมากเกินไปถึงหนึ่งเท่าตัว!
การทานเกลือหรือการทานเค็มที่มากเกินไปจะเกี่ยวกับโรคกระดูกพรุนอย่างไร ? ลองไปดูกันต่อครับ
กินเค็มมากไปร่างกายเสียแคลเซียม

กินเค็มมากไปร่างกายสูญเสียแคลเซียม
การรับประทานเกลือมากเกินไปส่งผลให้ร่างกายสูญเสียแคลเซียมทางปัสสาวะ จากการศึกษาพบว่าการทานเกลือเพียง 1 ช้อนชา เทียบได้กับการได้รับโซเดียม 2,300 มิลลิกรัม จะส่งผลให้ร่างกายขับแคลเซียมผ่านทางปัสสาวะ 40 มิลลิกรัม แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ดูแลเรื่องอาหารการกินของตนเองมักจะได้รับเกลือผ่านการรับประทานอาหารมากกว่านั้นอยู่แล้ว ลองนึกดูว่าในวันหนึ่งๆเราจะสูญเสียแคลเซียมผ่านทางปัสสาวะมากขนาดไหน ?
เนื่องจากแคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในกระดูกและฟัน การสูญเสียแคลเซียมเป็นประจำย่อมส่งผลทำให้มวลและความหนาแน่นของกระดูกลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การสูญเสียแคลเซียมในระยะเวลาที่นานพอ ย่อมทำให้เกิดภาวะกระดูกบางจนพัฒนาไปสู่ภาวะกระดูกพรุนที่มีความรุนแรงมากกว่าได้
รสเค็มเกี่ยวกับไตโดยตรง
“ลดเค็มครึ่งหนึ่ง” เป็นวลีที่เราได้ยินกันบ่อยจากการรณรงค์ของกระทรวงสาธารณสุขในประเทศไทย ที่อยากให้คนไทยหันมาใส่ใจและดูแลสุขภาพร่างกายโดยเฉพาะไตของตนเอง
จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า คนไทยทานอาหารเค็มเกินกว่าปกติถึง 2 เท่า ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและเสี่ยงต่อโรคไตวาย ซึ่งพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นปีละกว่า 7,800 ราย และจากข้อมูลล่าสุดพบว่าคนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังกว่าร้อยละ 17.6 ของจำนวนประชากรหรือประมาณ 8 ล้านคน! โดยมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่ถูกต้อง กล่าวคือ ทานเค็มเกินไปและนิยมทานอาหารกึ่งสำเร็จรูปที่มีส่วนผสมของเกลือเป็นประจำ
เราไม่ต้องอธิบายกระบวนการทางวิทยาศาสตร์หรือทางการแพทย์แผนปัจจุบันให้ยุ่งยาก ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า การทานเค็มมากเกินไปมีผลเสียต่อไตโดยตรง กล่าวคือ ทำให้เกิดโรคไตในรูปแบบต่างๆโดยเฉพาะโรคไตวายเรื้อรัง
ไตเสื่อมกับกระดูกพรุน

ไตเสื่อมมีผลทำให้กระดูกสูญเสียแคลเซียมและพัฒนาเป็นโรคกระดูกพรุนได้
ภาวะที่ไตทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพจะมากจะน้อย เราสามารถเรียกได้ว่าอยู่ในภาวะ “ไตเสื่อม” ถ้าไตเริ่มเสื่อมมากจนมีผลต่อสุขภาพหรือระบบการทำงานของร่างกายก็จะเรียกว่า “โรคไตเรื้อรัง” ซึ่งมีความรุนแรงอยู่ 5 ระดับ โดยวัดจากประสิทธิภาพการกรองและกำจัดของเสียในร่างกายของไต โรคไตเรื้อรังในระยะสุดท้ายประสิทธิภาพการทำงานของไตจะเหลืออยู่น้อยกว่า 15% เท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อการมีชีวิตอยู่ได้ การฟอกไตหรือล้างไต และการปลูกถ่ายไต จึ่งเป็นการรักษาที่จำเป็นเพื่อรักษาชีวิตของผู้ป่วยไว้
ถ้าเป็นโรคไตแบบปัจจุบันทันด่วนในระดับที่ 5 ก็จะเรียกว่า “ไตวายแบบเฉียบพลัน” สาเหตุส่วนใหญ่จะเกิดจากการที่ร่างกายได้รับพิษจากการกินที่ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของไตลดลงแบบทันทีทันใด ซึ่งโดยปกติแล้วมักจะรักษาได้หากไปโรงพยาบาลทัน แต่ในกรณีที่เกิดโรคไตเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปและยืดเยื้อก็จะเรียกว่า “ไตวายเรื้อรัง” สาเหตุมักจะเกิดจากการทานเค็มมากเกินไปแบบต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน และมักจะรักษาให้หายเป็นปกติได้ยาก ทำได้เพียงประคองอาการเท่านั้น
ผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ประเทศสหรัฐอเมริกายืนยันว่า “โรคกระดูกพรุนเป็นโรคแทรกซ้อนที่สำคัญอย่างหนึ่งของผู้ที่มีปัญหาโรคไตเรื้อรัง”
ไตมีหน้าที่สำคัญหลายอย่างในร่างกาย เช่น การรักษาสมดุลน้ำ การกำจัดของเสียออกจากร่างกาย การรักษาสร้างฮอร์โมนหลายชนิด การรักษาสมดุลเกลือแร่และสมดุลกรดด่างของร่างกาย ซึ่งกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการรักษากระดูกให้แข็งแรง คือ รักษาสมุดลของแคลเซียมและฟอสฟอรัสในร่างกาย โดยปกติแล้วหากฟอสฟอรัสในเลือดมีค่าสูงเกินปกติ เพื่อรักษาสมดุลเกลือแร่ของร่างกาย ไตมีความจำเป็นต้องทำหน้าที่ในการปรับสมดุลโดยการขับฟอสฟอรัสส่วนเกินออกทางปัสสาวะ
ในทางตรงข้าม หากไตเสื่อม การรักษาสมดุลของแคลเซียมและฟอสฟอร้สย่อมไม่ดีเหมือนเดิม ไตมีประสิทธิภาพน้อยลงในการขับฟอสฟอรัสส่วนเกินออกจากร่างกาย ทำให้ร่างกายต้องหาทางปรับสมดุลด้วยตัวมันเองโดยการละลายแคลเซียมในกระดูกออกมาสู่กระแสเลือดเพื่อลดปริมาณฟอสฟอรัสในกระแสเลือดให้พอดีและอยู่ร่างกายอยู่ในสภาวะสมดุล หากร่างกายอยู่ในภาวะนี้ไปนานๆความเสื่อมของกระดูกย่อมมีมากขึ้นเรื่อยๆ ความหนาแน่นของมวลกระดูกลดน้อยลง จนเกิดภาวะกระดูกบาง และพัฒนาไปสู่ภาวะกระดูกพรุนได้ในที่สุด
สรุป
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหรือที่เรานิยมเรียกกันว่า “มาม่า” เป็นอาหารที่มีเกลือหรือโซเดียมอยู่สูงมาก ผู้รับประทานจึงต้องมีความระมัดระวังไม่ควรทานอาหารเหล่านี้เป็นประจำหรือเป็นอาหารหลัก (นอกจากจะมีโซเดียมอยู่สูงแล้วยังมีคุณค่าทางอาหารน้อย) การทานเกลือหรือทานเค็มมากเกินไปส่งผลเสียทำให้ร่างกายสูญเสียแคลเซียมผ่านทางปัสสาวะ และไปทำลายประสิทธิภาพการทำงานของไตในระยะยาวกล่าว คือ ทำให้ไตเสื่อม ไตมีหน้าที่เกียวข้องกับการสร้างความแข็งแรงของกระดูกโดยตรง โดยการปรับสมดุลเกลือแร่และกรดด่างในร่างกาย หากไตเสื่อมหรือทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพย่อมหมายถึง ความแข็งแรงของกระดูกที่ลดน้อยลงตามไปด้วย เริ่มจากภาวะกระดูกบางและพัฒนาเป็นภาวะกระดูกพรุนได้ในที่สุด
ป.ล. ผู้เขียนก็ยังทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหรือมาม่าอยู่ เพียงแต่เราต้องทานมันอย่างเข้าใจและให้ความสำคัญกับสุขภาพที่ดีมาเป็นอันดับหนึ่งครับ 🙂
ป.ล. 2 ขอชื่นชมผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อ “มาม่า” ที่มีการแสดงฉลากโภชนาการ (Nutrition Facts) อย่างชัดเจน และพยายามปรับปรุงสูตรให้มาม่ามีปริมาณโซเดียมที่ลดน้อยลง ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อไหน ? ที่ยังไม่แสดงฉลากโภชนาการ ท่านควรจะแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการแสดงฉลากให้ชัดเจนนะครับ
อ้างอิง
http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2781186/
http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=36&chap=9&page=t36-9-infodetail01.html