ผลของการใช้ยาคุมกำเนิดกับโรคกระดูกพรุน

ผู้เขียน teerinjue |

สารบัญ

การใช้คุมกำเนิดมีผลทำให้มวลกระดูกลดลงได้

การใช้คุมกำเนิดมีผลทำให้มวลกระดูกลดลงได้

ยาคุมกำเนิดเป็นยาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายและได้รับความนิยมทั่วโลก เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์แบบไม่ตั้งใจหรือไม่พึงประสงค์ มีสตรีจำนวนมากที่ใช้ยาคุมกำเนิดกันตั้งแต่อายุยังน้อยและใช้อย่างต่อเนื่องไปเป็นเวลาหลายปี โดยที่ไม่ทราบเลยว่า การใช้ยาคุมกำเนิดมีผลต่อความหนาแน่นของมวลกระดูก ดังข้อมูลที่เราจะนำเสนอต่อไปนี้

ประเภทของยาคุมกำเนิด

ยาคุมกำเนิดแบ่งได้ 2 ประเภทใหญ่ๆดังต่อไปนี้

1. ยาคุมกำเนิดแบบทีมีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพียงอย่างเดียว

ภาษาอังกฤษเรียกว่า mini pills เป็นยาคุมกำเนิดที่ใช้ในสตรีที่มีความเสี่ยงเกียวกับการแข็งตัวของเลือดที่ดีเกินไป จนอาจทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน (Blood Clots) ส่งผลให้เกิดโรคหัวใจ (ลิ่มเลือดอุดตันเส้นเลือดหัวใจหรือ Heart Attack) หรือโรคลิ่มเลือดอุดตันเส้นเลือดสมอง (Stroke) หรือใช้ในกรณีการป้องกันการตั้งครรภ์สำหรับคุณแม่ที่เพิ่งคลอดบุตรและให้นมบุตรอยู่

2. ยาคุมกำเนิดแบบที่มีส่วนผสมของเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน

ภาษาอังกฤษเรียกว่า combination pills เป็นยาคุมกำเนิดแบบที่สตรีทั่วไปใช้กัน ทั้งแบบ 21 วันและ 28 วัน มีส่วนผสมของเอสโตรเจนต่อโปรเจสเตอโรนในแต่ละเม็ดไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับวันเวลาที่ต้องทานยาเม็ดนั้น แต่โดยรวมแล้วถ้าทานยาให้หมดทั้งแผงร่างกายจะได้รับฮอรโมนโปรเจสเตอโรนมากกว่าฮอร์โมนเอสโตรเจน

ข้อเท็จจริงที่ทราบตอนนี้

ยาคุมกำเนิดที่มีส่วนผสมของ progestin (หรือโปรเจสเตอโรน) โดยไม่มีเอสโตรเจน อย่างเช่น ยา Depo-Provera เป็นสาเหตุของการสูญเสียมวลกระดูก ด้วยเหตุผลนี้ทาง FDA ของอเมริกา (FDA = Food and Drug Association เทียบได้กับองค์การอาหารและยาหรือ อย. ของประเทศไทย) จึงแนะนำว่าไม่ควรใช้ยา Depo-Provera นานกว่า 2 ปี

งานวิจัยของยาคุมกำเนิดกับโรคกระดูกพรุน

การศึกษาใหม่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ยาคุมกำเนิดเป็นระยะเวลานานและการลดลงของมวลกระดูกสำหรับสตรีที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปี พบว่า ยาคุมกำเนิดที่มีเอสโตรเจนต่ำ เป็นอันตรายต่อความหนาแน่นมวลกระดูกสตรีมาก

การศึกษาตรวจวัดค่า BMD (Bone Mineral Density เป็นค่าที่ใช้วัดความหนาแน่นของกระดูก) ของกระดูกสะโพก กระดูกสันหลัง และกระดูกทั่วร่างกาย เพื่อวิเคราะห์ว่า ระยะเวลาในการทานยาคุมกำเนิดและปริมาณของเอสโตรเจนในยามีผลกระทบต่อความหนาแน่นของมวลกระดูกในสตรีอายุน้อยอย่างไรบ้าง ?

นักวิจัยศึกษากลุ่มตัวอย่างที่เป็นสตรี 606 คน (อายุตั้งแต่ 14 – 30 ปี) และพบว่าสตรีที่ทานยาคุมกำเนิดนานกว่า 1 ปี มีค่า BMD ในกระดูกสันหลังลดลง 5.9% เมื่อเปรียบเทียบกับสตรีที่ไม่ได้ทานยาคุม และมีค่า BMD ในกระดูกทั่วร่างกายลดลง 2.3% เมื่อเทียบกับตอนก่อนใช้ยาคุมและได้ผลสรุปว่า ยาคุมกำเนิดที่มีปริมาณเอสโตรเจนน้อยกว่า 30 มิลลิกรัม เป็นสาเหตุของการสูญเสียมวลกระดูกในการศึกษาครั้งนี้

สตรีอเมริกันอายุน้อยกว่า 30 ปีจำนวน 12 ล้านคน กำลังบริโภคยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน ซึ่งช่วงอายุที่กล่าวถึงนี้เป็นช่วงที่สำคัญมากในการสะสมมวลกระดูก มีงานวิจัยมากมายที่แสดงให้เห็นว่า ฮอร์โมนเอสโตรเจนทำหน้าที่สำคัญ คือ การสร้างและรักษามวลกระดูก จึงทำให้เกิดความกังวลต่อผลของการใช้ยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน เพราะยาคุมกำเนิดมีโปรเจสเตอโรนสูงและส่งผลกระทบต่อระดับเอสโตรเจนธรรมชาติของร่างกายสตรี

แม้ว่าผลการวิจัยของการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดที่นานกว่า 2 ปีขึ้นไปจะยังไม่ทราบ หรือการหยุดใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดจะช่วยให้มวลกระดูกกลับมาเหมือนเดิมได้หรือไม่ ? แต่ข้อสรุปที่ได้เบื้องต้น คือ การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดสามารถนำไปสู่โรคกระดูกพรุนและประสบกับภาวะกระดูกแตกหักได้ในวัยชรา

หลีกเลี่ยงการใช้ยาคุมกำเนิด

ถุงยางอนามัยเป็นอุปกรณ์ป้องกันการตั้งครรภ์ที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง

ถุงยางอนามัยเป็นอุปกรณ์ป้องกันการตั้งครรภ์แทนการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด

วิธีการที่ดีทีสุดที่จะพ้นจากความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุนจากการใช้ยาคุมกำเนิด คือ การคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น เช่น การใช้ถุงยางอนามัย การทำหมัน ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมาก ปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียง

แล้วถ้าจำเป็นต้องใช้ยาคุมล่ะ ?

ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาคุมกำเนิด โดยเฉพาะใช้อย่างยิ่งใช้อย่างต่อเนื่องเป็นปีๆ สิ่งที่ควรให้ความสำคัญ คือ การดูแลสุขภาพด้วยการทานอาหารที่ช่วยในการบำรุงกระดูกให้แข็งแรง และถ้าจำเป็นก็ควรใช้อาหารเสริมในบางกรณี หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้สูญเสียมวลกระดูก นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงการออกกำลังกายที่ช่วยให้กระดูกได้ทำงาน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงและเพิ่มมวลกระดูกได้

สรุป

ผลงานวิจัยชี้ให้เห็นแล้วว่า การใช้ยาคุมกำเนิดทั้งสองชนิด สามารถนำไปสู่ภาวะกระดูกพรุนได้ ดังนั้น การใช้ยาคุมกำเนิดจึงต้องทำอย่างระมัดระวัง และไม่ใช้ยาต่อเนื่องในระยะเวลาที่นานเกินไป (ความเห็นส่วนตัวไม่ควรเกิน 1 ปี) หากเลือกวิธีการคุมกำเนิดวิธีอื่นได้ จะปลอดภัยและดีต่อสุขภาพมากกว่า นอกจากเรื่องกระดูกพรุนแล้ว การใช้ยาคุมกำเนิดต่อเนื่องเป็นเวลานานยังส่งผลให้มีบุตรยาก และมีความเสี่ยงของโรคชนิดต่างๆ เช่น ภาวะการเกิดลิ่มเลือด โรคหัวใจ และโรคลิ่มเลือดอุดตันเส้นเลือดสมอง เป็นต้น

ธีริน เจริญอนันต์กิจ

ประสบการณ์ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมญี่ปุ่น 8 ปีในฐานะวิศวกร แต่มีความสนใจทางด้านการออกกำลังกาย สุขภาพ สมุนไพรและอาหารเสริม รวมถึงมีความสนใจด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ชื่นชอบการเผยแพร่ข้อมูลความรู้ผ่านการเขียนบล็อก สนุกกับการทำการตลาดออนไลน์ และเป็นนักเก็งกำไรในตลาดทุน

วิตามินดีมีประโยชน์กับโรคกระดูกพรุนอย่างไร?

ด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนในยุคปัจจุบันที่มักจะนั่งทำงานในที่ร่มและไม่ค่อยรับแสงแดด ส่งผลให้ร่างกายมักจะขาดวิตามินชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า "วิตามินดี" วิตามินดีเป็นวิตามินที่มีความสำคัญต่อกระดูก เพราะเป็นวิตามินที่ช่วยในการดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกาย...

read more

เคล็ดไม่ลับการกินอาหารต้านและชะลอกระดูกพรุน

อาหารมีส่วนสำคัญต่อความแข็งแรงของกระดูก เพราะเป็นสิ่งที่เราบริโภคเข้าสู่ร่างกายทุกวัน วันละอย่างน้อย 3 มื้อ ทุกครั้งที่เราทานอาหารเข้าไป ร่างกายจะทำการย่อยและดูดซึมสารอาหารโดยอวัยวะต่างๆ หากอาหารที่เราบริโภคเป็นอาหารที่มีประโยชน์...

read more