การเลือกใช้สมุนไพรสำหรับกระดูกพรุน

ผู้เขียน teerinjue |

สารบัญ

เนื่องจากยาแผนปัจจุบันที่ใช้ในการรักษากระดูกพรุนหลายตัวมีผลข้างเคียงมาก กล่าวคือมีผลเสียต่อตับและไต คนส่วนมากที่ทราบข้อมูลเหล่านี้ จึงมองหาทางเลือกในการรักษา สมุนไพรจึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาโรคกระดูกพรุนที่มีคนจำนวนมากให้ความสนใจ เพราะเป็นยาที่ได้จากพืชธรรมชาติที่มีผลข้างเคียงน้อยกว่า

ทำความเข้าใจเรื่องสมุนไพรนิดนึง

ในปัจจุบันเราจะเห็นว่า มีผลิตภัณฑ์สมุนไพรทำออกมาวางขายตามท้องตลาดเป็นจำนวนมาก จนบางครั้งถึงกับทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสนไม่รู้จะเลือกใช้อย่างไรดี ? ผู้เขียนเลยถือโอกาสปูพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สมุนไพรสักนิดนึง เพื่อให้ท่านทั้งหลายได้เลือกใช้สมุนไพรอย่างถูกโรค ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

สมุนไพรตามท้องตลาดมีอะไรบ้าง ?

ยาสมุนไพรแบ่งตามการแปรรูปได้ดังนี้

1. ยาสมุนไพรที่ยังไม่แปรรูป

สมุนไพรที่ยังไม่ได้แปรรูป

สมุนไพรที่ยังไม่ได้แปรรูป จะยังอยู่ในรูปแบบของพืชชนิดนั้นๆอยู่

ลักษณะของยาสมุนไพรชนิดนี้ คือ ยังไม่ผ่านการแปรรูป เช่น การบดหรือโม่ให้เป็นผง การต้มในน้ำแล้วนำมาบรรจุขวด ยังคงมีลักษณะของพืชสมุนไพรชนิดนั้นอยู่อย่างชัดเจน เช่น ผลก็ยังเป็นผล ใบก็ยังเป็นใบ แก่นก็ยังเป็นแก่น เป็นต้น ในประเทศไทย เรามักจะเห็นยาชนิดนี้ถูกบรรจุอยู่ในถุงพลาสติกเป็นห่อๆวางขายตามข้างทาง หรือบางคนอาจจะเรียกว่า “ยารากไม้” การจะนำยาไปรับประทานต้องไปผ่านกระบวนการแปรรูปเสียก่อน จึงจะสามารถรับประทานได้ ยาชนิดนี้หาซื้อได้แบบปลอดภัยและถูกต้องตามร้านขายยาแผนโบราณที่ขายสมุนไพรทั่วไป โดยเวลาซื้อต้องนำใบสั่งยาจากแพทย์ทางเลือก (เทียบยา) ไปให้เภสัชกรดู เพื่อจัดยาตามชนิดและปริมาณที่แพทย์กำหนด

2. ยาสมุนไพรที่ผ่านการแปรรูปแล้ว

สมุนไพรแปรรูปแล้ว ทำให้เป็นผงแล้วบรรจุอยู่ในรูปแคปซูล

สมุนไพรแปรรูปแล้ว ทำให้เป็นผงแล้วบรรจุอยู่ในรูปแคปซูล

ลักษณะของยาสมุนไพรชนิดนี้ คือ เป็นยาที่ผ่านการแปรรูปด้วยการบด โม่ แล้วบรรจุอยู่ในแคปซูลใส่ไว้ในกระปุก หรือต้มเอาตัวยาออกมา จากนั้นนำน้ำยาที่ได้จากการต้มมาบรรจุลงในขวด หรือผสมกับน้ำผึ้งเพื่อปั้นเป็นก้อนกลมๆหรือเรียกว่า ยาลูกกลอน ยาชนิดนี้สามารถรับประทานได้ทันที เพราะผ่านการปรุงและแปรรูปมาแล้ว จึงง่ายต่อการบริโภคมากกว่ายาสมุนไพรที่ยังไม่แปรรูป

ยาเดี่ยวหรือตำรับยา ?

ตามหลักการแพทย์แผนทางเลือกไม่ว่าแผนไทยหรือแผนจีน สูตรยาสมุนไพรจะถูกเรียกตามจำนวนส่วนประกอบของยา โดยใช้คำต่อไปนี้

1. ยาเดี่ยว

ฉลากยาสมุนไพรที่เป็นยาเดี่ยว สังเกตได้ว่าจะมีส่วนผสมของสมุนไพรเพียงชนิดเดียว

ฉลากยาสมุนไพรที่เป็นยาเดี่ยว สังเกตได้ว่าจะมีส่วนผสมของสมุนไพรเพียงชนิดเดียว

คือ ยาสมุนไพรที่มีส่วนผสมของสมุนไพรเพียงชนิดเดียว โดยไม่มีส่วนผสมของสมุนไพรชนิดอื่น เช่น ขมิ้นชัน มะรุม มะระขี้นก โดยยาเดี่ยวเหล่าจะผ่านการแปรรูปและถูกบรรจุลงในแคปซูลวางขายตามร้านสมุนไพร หากท่านอ่านฉลากข้างขวดจะพบว่า ส่วนผสมที่มีจะเป็นยาสมุนไพรเพียงชนิดเดียว ไม่มีสมุนไพรชนิดอื่นผสมอยู่เลย

2. ตำรับยา

ฉลากยาสมุนไพรที่เป็นตำรับยา สังเกตได้ว่าจะมีส่วนผสมของสมุนไพรตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป

ฉลากยาสมุนไพรที่เป็นตำรับยา สังเกตได้ว่าจะมีส่วนผสมของสมุนไพรตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป

คือ ยาสมุนไพรที่มีส่วนผสมของสมุนไพรหลายชนิด แพทย์ทางเลือกมักจะใช้ตำรับยาในการรักษาโรค เพราะสมุนไพรชนิดเดียวอาจมีสรรพคุณที่ไม่เพียงพอต่อการรักษา อีกทั้งสมุนไพรเพียงชนิดเดียวมีทั้งคุณและโทษ อย่างเช่น ขมิ้นชัน แม้จะมีสรรพคุณในการแก้ท้องอืด แต่หากเราใช้ขมิ้นชันที่เป็นยาเดี่ยวอยู่เป็นประจำ ฤทธิ์ร้อนของขมิ้นชันจะทำให้เราคอแห้ง หิวน้ำและเกิดอาการร้อนในได้ แพทย์จึงจำเป็นต้องใช้สมุนไพรชนิดอื่นมาผสม เพื่อเสริมฤทธิ์หรือส่วนที่เป็นประโยชน์และหักล้างพิษในส่วนที่เป็นโทษนั่นเอง

ข้อแนะนำ คือ ควรเลือกใช้ตำรับยาในการรักษากระดูกพรุนจะดีที่สุด

สมุนไพรสำหรับรักษากระดูกพรุนในประเทศไทย

ข้อมูลเกี่ยวกับสมุนไพรไทยที่ใช้รักษาโรคกระดูกพรุนมีอยู่ค่อนข้างมาก คนส่วนมากที่หาข้อมูลด้วยตนเองก็มักจะตัดสินใจได้ยากว่าอะไรดีหรือไม่ดี จากการหาข้อมูลของผู้เขียนพบว่า ข้อมูลสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคกระดูกพรุน แบ่งออกเป็นประเภทได้ดังนี้

1. ข้อมูลงานวิจัย

ข้อมูลลักษณะนี้มีอยู่ค่อนข้างมาก และมีสมุนไพรอยู่ชนิดหนึ่งที่กำลังอยู่ภายใต้การวิจัยและถูกอ้างว่า มีแนวโน้มที่จะใช้ในการรักษาโรคกระดูกเสื่อมหรือโรคกระดูกพรุนได้ นั่นคือ สมุนไพรเพชรสังฆาต

เพชรสังฆาต

เพชรสังฆาต (Cissus_Quadrangualaris)

เพชรสังฆาต (Cissus_Quadrangualaris)

ผู้เขียนขอยกคำพูดของผู้เชี่ยวชาญไว้ให้ท่านผู้อ่านได้ทราบไว้เป็นข้อมูล

ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ กล่าวว่า

“อีกไม่กี่ปีประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ซึ่งวัยนี้จะประสบปัญหาภาวะโรคเรื้อรังหลายโรค เช่น โรคกระดูกบาง พบว่า ร้อยละ 20 ของผู้ที่มีภาวะนี้จะกระดูกหักตามมาทำให้เกิดความบาดเจ็บ พิการได้ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ซึ่งการป้องกันรักษาภาวะกระดูกบางมีทั้งการลดการสลายของมวลกระดูก และเพิ่มการสร้างมวลกระดูก แต่จากการวิจัย “เพชรสังฆาต” หรือ “ตำลึงทอง” หรือ “ร้อยข้อ” หรือ “ต่อกระดูก” ซึ่งเป็นสมุนไพรไทย มีสรรพคุณบำรุงร่างกาย บำรุงกระดูก รักษากระดูกหัก ข้อเสื่อม ปวดข้อ ปวดเข่า โดยพบว่าในเพชรสังฆาต มีสารกลุ่มออสซิโอพีเนีย จะช่วยลดการผลัดเปลี่ยนกระดูก ออกฤทธิ์คล้ายกลุ่มสารที่เสริมฤทธิ์เอสโตเจน ซึ่งจากการวิจัยในอาสาสมัครที่เป็นกระดูกบาง แต่ยังไม่กระดูกพรุน โดยให้ทานต่อเนื่อง 3 เดือน พบว่า เพชรสังฆาต ช่วยลดการผลัดเปลี่ยนกระดูกได้”

“ขณะนี้กำลังมีการวางแผนการวิจัยให้ครบวงจรและขยายกลุ่มตัวอย่างให้เพิ่มขึ้น คาดว่า จะใช้เวลาประมาณ 2 – 3 ปี ในการทดลองทางคลินิก เพื่อให้ได้ผลที่ชัดเจน ทั้งนี้ ปัจจุบัน อย. ให้ขึ้นทะเบียนเพชรสังฆาต เป็นยารักษาริดสีดวงทวาร แต่พบว่าภูมิปัญญาของหมอแผนไทยพื้นบ้านจะนำเถา มาตำกับแป้ง พอกเพื่อต่อกระดูก โดยมีการทบทวนงานวิจัยของประเทศเพื่อนบ้านที่มีการใช้พืชกลุ่มนี้ 7 – 8 ปี เช่น ประเทศอินเดีย พม่า ก็พบว่ามีการใช้แบบเดียวกัน ทำให้พบว่า เพชรสังฆาต ช่วยลดการสลายของกระดูก ช่วยเปลี่ยนไขมันเป็นกล้ามเนื้อในผู้ที่ออกกำลังกาย ช่วยเพิ่มการเผาผลาญลดภาวะน้ำหนักเกิน และยังพบว่าช่วยลดภาวะการอักเสบ ลดการปวดข้อ ซึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา มีการนำสารดังกล่าวมาสกัดเป็นแคปซูล แต่จะมีราคาแพง 150 แคปซูล ราคาถึง 3,000 บาท” ภญ.ผกากรอง กล่าว

ภญ.ผกากรอง กล่าวว่า “สังคมไทยที่จะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ จำเป็นต้องศึกษาวิจัยผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในการป้องกันรักษา หรือ เผยแพร่งานวิจัยเพื่อให้ประชาชนสามารถปลูกพืชเพื่อใช้เองได้อย่างถูกต้อง ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาผลิตภัณฑ์สารสกัดเพียงอย่างเดียว เช่น เพชรสังฆาต สามารถปลูกเองในบ้านเพื่อรับประทานได้

ภญ.ผกากรอง กล่าวว่า “สำหรับเพชรสังฆาต อาจมีผลข้างเคียงได้หากปรุงไม่ดี เพราะในเถาจะมีแคลเซียมออกซาเลตที่ทำให้เกิดอาการคัน ถ้าผสมแล้วความเปรี้ยวไม่เพียงพอ หรือปรุงไม่ถูก ก็อาจจะทำให้เกิดอาการพะอืดพะอม และรับประทานยาก อาจต้องเปลี่ยนวิธีการปรุง หรือรับประทานหลังอาหาร หรือพร้อมอาหาร ในคนที่มีความไวมาก ส่วนการสกัดเป็นยา จะมีการควบคุมปริมาณกลุ่มสารให้คงที่ ทั้งนี้ ภาวะกระดูกพรุน มีความสัมพันธ์กับหลายปัจจัย ประชาชนสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตั้งแต่ก่อนเป็น เช่น ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีแคลเซียม ซึ่งถือเป็นวิธีที่ร่างกายสามารถดูดซึมสารอาหารได้ดีที่สุด”

ที่มา http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9580000098264

2. บอกต่อกันมา

กระชาย

กระชายเหลือง เป็นสมุนไพรไทยที่เชื่อว่ามีสรรพคุณในการบำรุงกระดูก

กระชายเหลือง เป็นสมุนไพรไทยที่เชื่อว่ามีสรรพคุณในการบำรุงกระดูก

กระชายมีรสเผ็ดร้อนขม แก้ปวดท้อง มวนในท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อ บำรุงกำลัง บำรุงกำหนัด แก้กามตายด้าน ปรับฮอร์โมนเพศให้สมดุลสำหรับผู้ชาย และเสริมสร้างกระดูก

สูตรน้ำกระชายบำรุงกระดูก เป็นสูตรที่ได้รับความนิยมค่อนข้างมาก เราจึงนำสูตรมาเขียนไว้ในบทความนี้ด้วย เผื่อท่านใดสนใจอยากจะลองทำทานที่บ้าน

น้ำกระชายสูตรที่ 1

กระชาย 1 ขีด
มะนาว 2 ลูก
น้ำผึ้ง 2 ช้อนโต๊ะ
น้ำดื่มสะอาด ปริมาณตามความเหมาะสม

วิธีการทำน้ำกระชายสูตรนี้ คือ ใส่กระชายและเติมน้ำลงในเครื่องปั่น ปั่นจนกระทั่งกระชายละเอียดเสร็จแล้วกรองเอาแต่น้ำ จากนั้นเติมมะนาวหรือน้ำผึ้งได้ตามใจชอบ แนะนำให้ทำแค่พอดื่มในแต่ละครั้ง เพื่อความสดใหม่และรสชาติที่ดีของน้ำกระชาย

น้ำกระชายสูตรที่ 2

กระชาย 2 กำมือ
โหระพา 2 กำมือ
น้ำดื่มสะอาด ปริมาณตามความเหมาะสม

วิธีการทำคือน้ำกระชายสูตรนี้ คือ ใส่กระชาย โหระพาและเติมน้ำลงในเครื่องปั่น ปั่นจนกระทั่งละเอียดเสร็จแล้วกรองเอาแต่น้ำ แนะนำให้ทำแค่พอดื่มในแต่ละครั้ง เพื่อความสดใหม่และรสชาติที่ดีของน้ำกระชาย

3. แนะนำหรือปรุงขึ้นโดยแพทย์

ตามหลักการแพทย์ทางเลือก แพทย์จะให้ความสำคัญกับอวัยวะที่มีส่วนในการรับแรงโน้มถ่วงและช่วยพยุงให้ร่างกายตั้งอยู่ได้ ซึ่งได้แก่ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็นและกระดูก การบำรุงกระดูกและรักษาโรคกระดูกพรุนจึงต้องให้ความสำคัญกับกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นด้วย กระดูกจะดีไม่ได้หากกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นไม่แข็งแรง ตำรับสมุนไพรตามหลักการแพทย์ทางเลือกจึงบำรุงและเสริมสร้างทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นและกระดูก

3.1 หมอเส็ง

ตำรับยาสมุนไพรบรรเทาอาการปวดเมื่อย บำรุงกล้ามเนื้อ กระดูกและเส้นเอ็น

ชุงกิ้งติ้ง 90 กรัม
ตังเซียม 90 กรัม
โต้วต๋ง 90 กรัม
เถาวัลย์เปรียง 90 กรัม
กำลังหนุมาน 90 กรัม
กำลังเสือโคร่ง 90 กรัม
เถาโคคลาน 90 กรัม
และตัวยาอื่นๆ

โชคดีที่ตำรับยาสมุนไพรนี้ คุณหมอเส็งได้ผลิตออกมาจำหน่ายเป็นยาสุมนไพรที่ผ่านการปรุงให้ตามสัดส่วนและต้มเพื่อสกัดตัวยามาแล้ว ท่านไม่ต้องลำบากไปซื้อสมุนไพรมาต้มเอง สามารถซื้อมาทานได้เลย

ที่มา ยาบรรเทาอาการปวดเมื่อยหมอเส็ง

ตำรับยาสมุนไพรบำรุงกระดูก บำรุงกล้ามเนื้อ กระดูกและเส้นเอ็น

แก่นกำแพงเจ็ดชั้น 1 ส่วน
ต้นกระดูกไก่ดำ 1 ส่วน
แก่นสะเดา 1 ส่วน
แก่นราชพฤกษ์ 1 ส่วน
เถาวัลย์เปรียง 1 ส่วน
เถาโคคลาน 1 ส่วน
ใบมะขามแขก 1/2 ส่วน

หากท่านต้องการใช้ยาสูตรนี้ในการบำรุงกระดูกให้นำข้อมูลยาด้านบนไปซื้อยาสมุนไพรทั้งหมดที่ร้านขายยาแผนโบราณจากนั้นให้น้ำมาต้มเพื่อสกัดตัวยา การต้มยานั้นจะต้องต้มอย่างไร ? รบกวนท่านผู้อ่านดูวีดีโอตามลิ้งค์ที่มาของสูตรยานี้ จะดีและปลอดภัยมากกว่า

ที่มา https://youtu.be/cR9hmFHS87Q

เปรียบเทียบสูตรยาสมุนไพรรักษากระดูกพรุน

เพชรสังฆาต

ข้อดี

เป็นงานวิจัย
ราคาถูก

ข้อเสีย

เป็นยาเดี่ยว
ทำทานเองค่อนข้างลำบากหากไม่มีความชำนาญ
งานวิจัยยังไม่ได้ผลสรุปที่ชัดเจน

น้ำกระชาย

ข้อดี

ทำรับประทานได้ง่ายที่บ้าน
ราคาถูก

ข้อเสีย

ความน่าเชื่อถือน้อย ไม่มีการรับรองจากแพทย์

ยาตำรับหมอเส็งและหมอเนตร

ข้อดี

รับรองตำรับยาโดยแพทย์
มีความน่าเชื่อถือมาก
ปรุงยาตามหลักแพทย์ทางเลือก

ข้อเสีย

ราคาสูงกว่า
ทำทานเองค่อนข้างลำบากหากไม่มีความชำนาญ

คำแนะนำในการใช้สมุนไพรรักษากระดูกพรุน

1. เลือกใช้ยาสมุนไพรทีละยี่ห้อหรือสูตรใดสูตรหนึ่งในเวลาหนึ่งเท่านั้น อย่าใช้หลายยี่ห้อหรือหลายสูตรพร้อมๆกัน เพราะมีโอกาสที่จะได้รับสมุนไพรบางชนิดในปริมาณมากเกินไป ในกรณีที่ทานยาสมุนไพรหรือสูตรสมุนไพรมีสมุนไพรบางตัวที่ซ้ำซ้อน หรือในอีกกรณีหนึ่ง คือ สมุนไพรบางตัวของแต่ละยี่ห้อหรือแต่ละสูตร หากทานร่วมกันแล้ว อาจเกิดผลเสียกับร่างกายก็เป็นไปได้

2. การรักษากระดูกพรุนโดยใช้สมุนไพรใช้เวลาค่อนข้างนาน ในหลายกรณีอาจต้องใช้เวลา 6 เดือนถึง 1 ปี เพราะการรักษากระดูกต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป สมุนไพรจะช่วยบำรุงและเสริมสร้างจนกระทั่งกระดูกแข็งแรงเป็นปกติ

3. แม้ว่าสมุนไพรจะช่วยบำรุง เสริมสร้างและรักษากระดูกพรุนได้ แต่อาหารและการออกกำลังก็มีส่วนสำคัญไม่แพ้กัน การทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อกระดูก หลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นอันตรายต่อกระดูก และการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ต้องทำควบคู่กันไปกับการใช้สมุนไพรรักษากระดูกพรุนด้วย

สรุป

การเลือกใช้สมุนไพรเพื่อเสริมสร้างหรือบำบัดรักษาโรคกระดูกพรุนด้วยสมุนไพร ควรเลือกใช้แบบที่เป็นตำรับยากล่าวคือ มีส่วนผสมของสมุนไพรหลายชนิด เพราะเป็นไปตามหลักการแพทย์แผนโบราณ การเลือกใช้สมุนไพรแนะนำให้เลือกใช้สูตรของแพทย์ที่มีความรู้และประสบการณ์ในการรักษา เพราะจะได้ใช้สูตรยาที่ผ่านการใช้กับคนไข้เป็นจำนวนมากมาแล้ว เพื่อผลลัพธ์ที่ดีและความมั่นใจในการใช้สมุนไพรสำหรับกระดูกครับ

ธีริน เจริญอนันต์กิจ

ประสบการณ์ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมญี่ปุ่น 8 ปีในฐานะวิศวกร แต่มีความสนใจทางด้านการออกกำลังกาย สุขภาพ สมุนไพรและอาหารเสริม รวมถึงมีความสนใจด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ชื่นชอบการเผยแพร่ข้อมูลความรู้ผ่านการเขียนบล็อก สนุกกับการทำการตลาดออนไลน์ และเป็นนักเก็งกำไรในตลาดทุน

วิตามินดีมีประโยชน์กับโรคกระดูกพรุนอย่างไร?

ด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนในยุคปัจจุบันที่มักจะนั่งทำงานในที่ร่มและไม่ค่อยรับแสงแดด ส่งผลให้ร่างกายมักจะขาดวิตามินชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า "วิตามินดี" วิตามินดีเป็นวิตามินที่มีความสำคัญต่อกระดูก เพราะเป็นวิตามินที่ช่วยในการดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกาย...

read more

เคล็ดไม่ลับการกินอาหารต้านและชะลอกระดูกพรุน

อาหารมีส่วนสำคัญต่อความแข็งแรงของกระดูก เพราะเป็นสิ่งที่เราบริโภคเข้าสู่ร่างกายทุกวัน วันละอย่างน้อย 3 มื้อ ทุกครั้งที่เราทานอาหารเข้าไป ร่างกายจะทำการย่อยและดูดซึมสารอาหารโดยอวัยวะต่างๆ หากอาหารที่เราบริโภคเป็นอาหารที่มีประโยชน์...

read more