สารบัญ

เน้นการทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงเป็นหลัก ทานอาหารเสริมเป็นรอง
โดยทั่วไปแล้วอาหารเสริมสำหรับกระดูกอาจไม่ได้มีความจำเป็นมากนัก สำหรับผู้ที่ร่างกายแข็งแรงดีและรู้จักทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อกระดูก แต่ในส่วนของผู้ที่มีความเสี่ยงของโรคกระดูกบางและกระดูกพรุนหรือมีอาการอยู่แล้ว มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับสารอาหารสำคัญต่อกระดูกในปริมาณที่มากกว่าคนปกติทั่วไป เพื่อชะลอหรือต้านโรคกระดูกพรุน อาหารเสริมกระดูกพรุนจึงเข้ามาเป็นคำตอบให้กับปัญหานี้
ทำไมต้องใช้อาหารเสริมกระดูกพรุน ?
เหตุผลที่เรามีความจำเป็นต้องใช้อาหารเสริมเพราะว่า การรับประทานอาหารปกติได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายและกระดูก ซึ่งความต้องการสารอาหารของแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับอายุ เพศ พฤติกรรมในชีวิตประจำวันและโรคประจำตัว
อาหารเสริมกระดูกพรุนเหมาะสำหรับใครบ้าง ?
การใช้อาหารเสริมมีความจำเป็นต่อบุคคลดังต่อไปนี้
- บุคคลทั่วไปที่ต้องการบำรุงสุขภาพกระดูกเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน ซึ่งเป็นโรคที่ต้องป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆหรืออายุยังน้อย
- คนป่วยที่มีปัญหาเรื่องกระดูก เช่น กระดูกบาง หรือป่วยเป็นโรคกระดูก เช่น กระดูกพรุน
- คนที่ใช้งานร่างกายหนักกว่าคนปกติทั่วไป เช่น นักกีฬายกน้ำหนัก จำเป็นต้องเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย กระดูกและกล้ามเนื้อ
เรียนรู้สารอาหารที่จำเป็นต่อกระดูก 20 ชนิด
สารอาหารสำคัญที่จำเป็นสำหรับผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพกระดูก ไม่ว่าจะเป็นการเสริมสร้างกระดูกของคนปกติเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุนหรือคนที่ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนอยู่แล้วก็ตาม
ลำดับ | สารอาหาร | พบมากใน |
---|---|---|
1. | แคลเซียม | งาดำ ถั่วเหลือง ถั่วแระ ถั่วลันเตา เมล็ดฟักทอง เนื้อมะพร้าว กระเจี๊ยบเขียว บรอคเคอรี่ ผักโขม ผักกวางตุ้งจีน |
2. | ฟอสฟอรัส | งาดำ เมล็ดทานตะวัน เมล็ดแตงโม เมล็ดฟักทอง เนื้อสัตว์ปีก ผลิตภัณฑ์จากนม |
3. | โครเมียม | ข้าวกล้อง บร็อคเคอรี่ เห็ด ถั่วเขียว ไข่ไก่ ปลา ข้าวโพด มันฝรั่ง |
4. | ซิลิกา | แอปเปิ้ล ข้าวฟ่าง หัวไชเท้า แตงกวา พริก มะเขือเทศ มันฝรั่ง ข้าวกล้อง |
5. | สังกะสี | งาดำ เมล็ดฟักทอง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ถั่วแดง ผักโขม |
6. | แมงกานีส | ข้าวกล้อง งาดำ เมล็ดฟักทอง เมล็ดทานตะวัน ถั่วเหลือง เต้าหู้ ผักโขม พริกป่น |
7. | ทองแดง | งาดำ ถั่วเหลือง ถั่วแดง อาหารที่หมักจากถั่วเหลือง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เห็ดหอม อโวคาโด |
8. | โบรอน | แอปเปิ้ล กล้วย ส้ม องุ่นแดง บร็อคเคอรี่ ถั่วลิสง ถั่วฝัก ลูกเกด พรุน |
9. | โพแทสเซียม | กล้วย ถั่วขาว ผักโขม เห็ดชนิดต่างๆ อโวคาโด |
10. | สตรอนเทียม | ข้าวกล้อง ผักโขม แครอท ถั่วลันเตา |
11. | วิตามินเอ | แครอท แคนตาลูป พริกหยวก มะละกอ มะม่วง ผักใบเขียวเข้ม |
12. | วิตามินบี 6 | ข้าวกล้อง งาดำ เมล็ดฟักทอง เมล็ดทานตะวัน กล้วย |
13. | โฟเลต (วิตามินบี 9) | ถั่วแดง ถั่วดำ ผักโขม บรอคเคอรี่ มะม่วง ส้ม |
14. | วิตามินบี 12 | ถั่วเหลือง ไข่ไก่ ปลาทะเล |
15. | วิตามินซี | ฝรั่ง ส้ม มะละกอ มะเขือเทศ สตรอเบอรี่ มะนาว บรอคเคอรี่ |
16. | วิตามินดี | ปลาทะเล ไข่แดง เห็ดชนิดต่างๆ |
17. | วิตามินเค 1 | ผักใบเขียวทุกชนิด |
18. | วิตามินเค 2 | ผลิตภัณฑ์ที่เป็นถั่วเหลืองหมัก เช่น ถั่วเน่าญี่ปุ่น (Natto) |
19. | ไขมัน | น้ำมันงาดำ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก น้ำมันปลาทะเล |
20. | โปรตีน | งาดำ เมล็ดฟักทอง ถั่วเหลือง ถั่วดำ ถั่วลันเตา ถั่วเขียว เห็ดทุกชนิด |
ประเภทอาหารเสริมกระดูกพรุนตามท้องตลาด
1. อาหารเสริมสารสังเคราะห์
สารอาหารหรือสารสำคัญที่อยู่ในอาหารเสริมกระดูกพรุนชนิดนี้ จะถูกสร้างหรือสังเคราะห์ในห้องทดลอง โดยมีสารเคมีเป็นสารตั้งต้น เพื่อให้ได้สารที่มีโครงสร้างหรือคุณสมบัติคล้ายคลึงกับสารอาหารตามธรรมชาติ
2. อาหารเสริมสารสกัด
สารอาหารหรือสารสำคัญที่อยู่ในอาหารเสริมกระดูกพรุนชนิดนี้ ถูกสกัดจากวัตถุดิบธรรมชาติจากพืชหรือสัตว์ เช่น
การสกัดแคลเซียม สตรอนเทียม ซิลิกา วานาเดียม จากสาหร่าย (algae)
การสกัดวิตามินซี จากผลไม้ชนิดต่างๆเช่น อะเซเลอร่าเชอรี่ โกจิเบอรี่ กีวี
การสกัดวิตามินดี จากลาโนลิน (lanolin) ซึ่งเป็นไขมันที่ได้จากขนของแกะ
หรือการสกัดวัตถุดิบธรรมชาติเพื่อเอาน้ำมัน เช่น การสกัดเย็นเมล็ดงาดำ โดยที่น้ำมันงาดำที่ได้มีสารอาหารที่มีความจำเป็นและมีความสำคัญต่อการเสริมสร้างมวลกระดูก เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม สังกะสี ฟอสฟอรัส วิตามินบี โอเมก้า 3-6-9 (ไขมันดี) เป็นต้น
3. อาหารเสริมในรูปอาหาร
การผลิตอาหารเสริมในรูปอาหารจะอาศัยของหลักการนำอาหารที่มีปริมาณสารอาหารในการบำรุงกระดูกสูง มาทำเป็นอาหารเสริมโดยมีการแปรรูปเพียงเล็กน้อย เพื่อคงคุณค่าทางอาหารให้กับอาหารเสริมมากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น งาดำ
งาดำมีปริมาณสารอาหารที่จำเป็นต่อการเสริมสร้างกระดูกหลายชนิดมาก ที่เห็นได้ชัดคือ “มีแคลเซียมสูงมาก” จึงนิยมนำมาแปรรูปเป็นอาหารเสริม โดยเป็นอาหารเสริมในรูปอาหารที่มีการแปรรูปเพียงเล็กน้อย เช่น การบด โม่ หรือการทำให้เป็นผง ซึ่งอาหารเสริมเหล่านี้มักจะอยู่ในรูปของเครื่องดื่มที่ใช้ชงดื่มกับน้ำร้อนหรือเครื่องดื่มชนิดอื่น หรือเป็นผงบรรจุอยู่ในกระปุก เพื่อใช้โรยรับประทานร่วมกับอาหารทั่วไป การแปรรูปน้อยสามารถคงคุณค่าทางอาหารไว้ได้มากใกล้เคียงกับอาหารก่อนแปรรูป หากใช้กรรมวิธีที่ถูกต้อง
4. อาหารเสริมสมุนไพร
อาหารเสริมสมุนไพรจะใช้ส่วนของพืชหรือสัตว์มาผสมรวมกัน เพื่อให้ออกฤทธิ์ในการบำรุงและเสริมสร้างกระดูก โดยที่หลักการแพทย์แผนโบราณไม่ว่าแผนจีนหรือแผนไทย มักจะเรียกการผสมผสานของสมุนไพรหลายๆชนิดรวมกันว่า ตำรับยา โดยตำรับยาสมุนไพรที่เราคุ้นเคยจะมีการผลิตออกมาใน 2 รูปแบบ คือ
4.1 ยาต้ม
อาหารเสริมสมุนไพรชนิดนี้ทำด้วยกรรมวิธีแบบโบราณที่สุด คือ การนำสมุนไพรชนิดต่างๆตามสูตรยาหรือตำรับยามาใส่รวมกันไว้ในผ้าขาวบาง เสร็จแล้วนำไปต้มและเคี่ยวในน้ำเดือด เพื่อให้ตัวยาหรือสารสำคัญจากสมุนไพรละลายออกมา เสร็จแล้วก็นำไปรับประทานได้
4.2 ยาผง
อาหารเสริมสมุนไพรชนิดนี้ทำด้วยกรรมวิธีการบดหรือโม่สมุนไพรแต่ละชนิดให้เป็นผงละเอียด จากนั้นก็จะนำสมุนไพรแต่ละชนิดมาผสมรวมกันตามสูตรหรือตำรับยา และนำไปบรรจุแคปซูลหรือนำไปปั้นเป็นยาลูกกลอนก็ได้
อาหารเสริมไม่ได้ดีกว่าอาหารจริง
ความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรงอย่างหนึ่งของคนจำนวนมากเกี่ยวกับการใช้อาหารเสริมบำรุงกระดูก คือ เราสามารถใช้อาหารเสริมทดแทนการรับประทานอาหารจริงได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ค่อนข้างอันตรายกับสุขภาพมาก เพราะอาหารเสริมยังไงก็ไม่มีวันเหมือนอาหารจริงได้ 100% ธรรมชาติได้สร้างอาหารแต่ละชนิดขึ้นมาอย่างมีศิลปะและมีความสมดุลในแง่ของสารอาหารในตัวของมันเองอยู่แล้ว อาหารจริงจึงย่อมต้องดีกว่าอาหารเสริมด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
- อาหารจริงมีความเป็นธรรมชาติมากกว่าอาหารเสริม ร่างกายสามารถนำสารอาหารไปใช้ได้ดีและมีประสิทธิภาพมากกว่า
- อาหารจริงมีสารอาหารหลายอย่างที่อาหารเสริมตามท้องตลาดไม่มี จะเป็นเพราะไม่สามารถสกัดหรือสร้างขึ้นมาไม่ได้ก็ดี หรืออาจจะยังค้นไม่พบก็ดี
- อาหารจริงแบบสดๆมีเอนไซม์ ซึ่งเป็นสารสำคัญที่ช่วยร่างกายแข็งแรงและดูดซึมสารอาหารไปใช้ได้ดี แต่อาหารเสริมไม่มีเพราะไม่ใช่อาหารสด
แพทย์แผนจีนเค้าจะสอนว่า “หากเจ็บป่วยหรือไม่สบายให้รักษาด้วยอาหาร ด้วยการกินอาหารให้เป็นยา หากยังไม่ได้ผลค่อยหันมาใช้สมุนไพรเพื่อรักษาเพิ่มเติม” ดังนั้น หากเราอยากมีสุขภาพกระดูกที่ดีและแข็งแรง สิ่งที่เราควรให้ความสำคัญมากกว่าอาหารเสริม คือ อาหารจริงที่เรารับประทานอยู่เป็นประจำทุกวัน ถ้าเราดูแลอาหารการกินเป็นอย่างดีแล้ว สารอาหารที่ได้รับยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายและกระดูกของเรา จึงค่อยหันมาพิจารณาการใช้อาหารเสริมเป็นตัวช่วยอีกทางหนึ่ง
หลักในการใช้อาหารเสริมสำหรับกระดูกให้ปลอดภัย
- ให้ความสำคัญกับอาหารจริงที่เรารับประทานให้มากที่สุด หากร่างกายต้องการสารอาหารเพิ่มเติมจริงๆค่อยลองมาพิจารณาในการใช้อาหารเสริม
- โปรดทราบว่า อาหารเสริมที่มากเกินไป จะส่งผลให้ตับและไตทำงานหนัก เพราะต้องจัดการและกำจัดสารอาหารส่วนเกินออกจากร่างกาย
- เลือกใช้อาหารเสริมที่มีความเป็นธรรมชาติ เช่น อาหารเสริมสารสกัด อาหารเสริมในรูปอาหารและอาหารเสริมสมุนไพร เพราะอะไรที่เป็นธรรมชาติมากกว่าร่างกายจะสามารถดูดซึมและนำไปใช้ได้ดีกว่า ร่างกายได้รับประโยชน์มากกว่า
- สิ่งที่ควรให้ความสำคัญเพิ่มเติม นอกจากการดูแลอาหารและการทานอาหารเสริมสำหรับกระดูก คือ การออกกำลังกาย การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และการทำให้จิตใจสบาย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อสุขภาพของกระดูกเช่นกัน
- การตรวจสุขภาพประจำปี จะทำให้เราทราบข้อมูลสุขภาพของตนเอง หากต้องการทราบว่าร่างกายขาดสารอาหารไหม ? ให้ตรวจเลือด หากต้องการทราบว่ากระดูกยังสุขภาพดีหรือไม่ ? ให้ลองตรวจ Bone Mineral Density (BMD) แล้วปรึกษาเรื่องอาหารเสริมกับผู้เชี่ยวชาญว่า จำเป็นต้องใช้แบบไหน ? อย่างไร ?
อาหารเสริมกระดูกพรุนแบบไหนดีที่สุด ?
อาหารเสริมที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเสริมสร้างกระดูก ป้องกันโรคกระดูกพรุน หรืออาจจะมีปัญหากระดูกบางหรือกระดูกพรุนอยู่แล้วก็ตาม ควรเลือกใช้อาหารเสริมที่มีส่วนผสมของสารอาหารสำคัญ 20 ชนิด ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่มีอาหารเสริมชนิดใดที่มีสารอาหารครบทั้ง 20 ชนิดอย่างแท้จริง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
- สารอาหารบางอย่างหาได้ง่ายจากอาหารอยู่แล้ว เช่น ฟอสฟอรัส วิตามินเอ วิตามินบี วิตามินซี และแร่ธาตุชนิดอื่นๆที่ร่างกายมักจะได้รับอย่างเพียงพอจากการทานอาหารปกติอยู่แล้ว
- ผลิตได้ยาก ต้นทุนการผลิตสูง
- ทานแล้วมีความเสี่ยงต่อการได้รับสารอาหารเกินปกติ เพราะไปเพิ่มเติมสารอาหารที่ได้รับจากการทานอาหารอยู่แล้ว
บริษัทผู้ผลิตอาหารเสริม จึงเลือกที่จะผลิตอาหารเสริมสำหรับกระดูกซึ่งประกอบไปด้วยสารอาหารหลักที่จำเป็นต่อกระดูก ร่างกายต้องการสารอาหารชนิดนั้นในปริมาณที่มากและเป็นสารอาหารที่มีน้อยในอาหารที่เราบริโภคในชีวิตประจำวัน เช่น
- แคลเซียม ถือเป็นสารอาหารหรือแร่ธาตุหลักของการเสริมสร้างกระดูก มีมากในอาหารหลายชนิด แต่ด้วยภาวะทุพโภชนาการ คนจำนวนมากจึงไม่สามารถบริโภคได้ให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกายได้
- วิตามินดี ช่วยในการดูดซึมแคลเซียมของร่างกาย วิตามินดีหาได้ยากจากอาหาร แต่ร่างกายสามารถสร้างได้จากการอาบแดด
- แมกนีเซียม ช่วยให้ร่างกายรักษามวลกระดูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ที่ร่างกายขาดแมกนีเซียมมีแนวโน้มที่จะป่วยเป็นโรคกระดูกบางและโรคกระดูกพรุนได้
อาหารเสริมสำหรับกระดูกจำนวนมากจึงมีส่วนผสมของแคลเซียม วิตามินดีและแมกนีเซียมเป็นหลัก
หากคำถามคือ เราจะเลือกใช้อาหารเสริมกระดูกพรุนแบบไหนจะดีที่สุด ? คำตอบคือ ให้เราใช้หลักดังต่อไปนี้
- มีจำนวนสารอาหารที่หลากหลายใกล้เคียงกับ 20 สารอาหารจำเป็น เช่น แคลเซียม วิตามินดี แมกนีเซียม วิตามินและแร่ธาตุชนิดต่างๆ
- มีความเป็นธรรมชาติมาก สกัดหรือแปรรูปน้อยจากพืชธรรมชาติไม่มีสารเคมีหรือสารสังเคราะห์
หากท่านต้องการที่ปรึกษาในการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับกระดูกและข้อกรุณาคลิกที่นี่
สรุป
การใช้อาหารเสริมอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับคนทั่วไปที่ดูแลการกินอาหารของตนเองได้เป็นอย่างดี แต่ในความเป็นจริงจะมีสักกี่คนที่สามารถดูแลการกินอาหารของตนเองได้ตามหลักโภชนาการ ยังมีคนจำนวนมากที่ทานอาหารเพื่ออิ่มโดยไม่ได้ให้ความสนใจกับคุณค่าทางอาหารมากนัก ในส่วนของผู้ที่ต้องการบำรุงกระดูก ป้องกันกระดูกพรุน และผู้ที่มีปัญหากระดูกบางหรือกระดูกพรุน ซึ่งมีความจำเป็นต้องได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอและมากกว่าคนปกติ อาหารเสริมย่อมมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งสำหรับคนกลุ่มนี้ อย่างไรก็ตาม อาหารเสริมก็คืออาหารเสริม ไม่ใช่อาหารหลัก เราควรเน้นการทานอาหารหลักตามปกติให้เต็มที่ แล้วเสริมด้วยอาหารเสริม จะเป็นการช่วยการันตีการได้รับสารอาหารสำคัญสำหรับกระดูกอย่างครบถ้วนได้