สารบัญ
อาหารมีส่วนสำคัญต่อความแข็งแรงของกระดูก เพราะเป็นสิ่งที่เราบริโภคเข้าสู่ร่างกายทุกวัน วันละอย่างน้อย 3 มื้อ ทุกครั้งที่เราทานอาหารเข้าไป ร่างกายจะทำการย่อยและดูดซึมสารอาหารโดยอวัยวะต่างๆ หากอาหารที่เราบริโภคเป็นอาหารที่มีประโยชน์ ร่างกายย่อมสามารถนำสารอาหารที่ได้จากอาหารเหล่านั้นไปบำรุงและซ่อมแซมร่างกายในทุกส่วน (รวมถึงกระดูก) ในทางตรงกันข้ามหากอาหารที่เราบริโภคเป็นอาหารที่มีโทษมากและมีประโยชน์น้อย ร่างกายย่อมขาดแคลนสารอาหารที่จะนำไปใช้ประโยชน์กับร่างกายได้ และหนำซ้ำยังส่งผลเสียต่อกระดูกของเราอีกด้วย
อาหารกับภาวะสมดุลร่างกาย

การทำสมาธิเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยสร้างสมดุลร่างกาย
การทานอาหารหนึ่งครั้งร่างกายย่อมต้องมีการย่อย เผาผลาญ และดูดซึมสารอาหารเข้าสู่เซลล์จำนวนเป็นหลายล้านเซลล์ (ในร่างกายของมนุษย์เรามีเซลล์ทั้งหมดประมาณ 37.2 ล้านล้านเซลล์ เยอะไหมครับ ?) สิ่งที่ร่างกายได้รับจากการรับประทานอาหารนอกจะมีสารอาหารแล้ว ยังมีของเสียที่เกิดจากระบบการย่อย เผาผลาญและดูดซึม ซึ่งจะต้องถูกขับออกจากร่างกายในรูปแบบของเหงื่อ ปัสสาวะ อุจจาระ ลมหายใจ เป็นต้น
การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพร่างกาย คือ การรับประทานอาหารแล้วร่างกายอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า “มีความสมดุล” ซึ่งอาจเป็นคำพูดที่เราได้ยินบ่อยๆจากหมอหรือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพหลายท่าน
ร่างกายมีความสมดุลหรือไม่ ? เราจะทราบได้อย่างไร ? เป็นคำถามที่หลายท่านสงสัย เพราะคำว่าสมดุลเฉยๆไม่อาจแสดงให้เห็นผลเป็นรูปธรรมได้แต่อย่างใด
ในทางการแพทย์หลายแผนจะมีวิธีนิยาม “สมดุลร่างกาย” แตกต่างกันไป เช่น
- แพทย์แผนจีน สมดุลหยินหยาง
- แพทย์แผนไทย สมดุลธาตุทั้ง 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ
- แพทย์แผนปัจจุบัน สมดุลกรดด่าง
ซึ่งในความเข้าใจของผม สมดุลของแพทย์แต่ละแผน ทั้งหมดคือเรื่องเดียวกัน
การวัดสมดุลที่เห็นจะวัดเป็นรูปธรรมได้ง่ายที่สุด คือ สมดุลกรดด่าง เพราะเรามีวิธีวัดและเครื่องมือที่ชัดเจน และมีข้อมูลในเชิงวิทยาศาสตร์ มีงานวิจัยค้นคว้าและเอกสารอ้างอิงที่หาได้ง่ายกว่า อีกทั้งยังสามารถแสดงตัวเลขให้ผู้อ่านได้เข้าใจได้ชัดเจนมากกว่าด้วย
ทำความเข้าใจกับค่าความเป็นกรดด่างนิดนึง

แถบวัดค่าความเป็นกรดด่าง (pH)
ค่าความเป็นกรดด่างจะวัดเป็นค่าที่เรียกว่า pH มีค่าตั้งแต่ 0 – 14 โดย
ค่า pH = 7 ถือว่าเป็นกลาง
ค่า pH > 7 ถือว่าเป็นด่าง ค่ายิ่งสูงเข้าใกล้ 14 ยิ่งเป็นด่างมาก
ค่า pH < 7 ถือว่าเป็นกรด ค่ายิ่งน้อยเข้าใกล้ 0 ยิ่งเป็นกรดมาก
ผลลัพธ์สุดท้ายของอาหารจะดีหรือไม่ดีต่อร่างกาย เราจะวัดจากค่าความเป็นกรดด่างของร่างกายหลังจากที่ทานอาหารชนิดนั้นแล้ว ตามหลักการแล้วจะวัดจากค่า “ความเป็นกรดด่าง (pH) ของเลือด” โดยปกติแล้วค่าความเป็นกรดด่างของเลือดปกติจะอยู่ในช่วง 7.35 – 7.45 (มีความเป็นด่างเล็กน้อย) ถ้าเราตรวจสอบแล้วได้ค่านี้อยู่เป็นประจำแสดงว่า ร่างกายอยู่ในภาวะสมดุลดี
อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบสมดุลร่างกายเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำเป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะผู้มีปัญหาสุขภาพ เพื่อให้เราทราบถึงสภาวะของร่างกายและสามารถควบคุม สัดส่วน ชนิดและปริมาณอาหารที่ทานได้ สมดุลร่างกายที่จะส่งผลให้ร่างกายแข็งแรงและมีอายุยืน คือ สมดุลอย่างต่อเนื่องไม่ใช้สมดุลเพียงวันสองวัน เปรียบเทียบได้กับสำนวนที่กล่าวว่า กรุงโรมไม่สามารถสร้างเสร็จได้ภายในวันเดียว
เนื่องจากการตรวจสอบสมดุลร่างกายจำเป็นต้องทำทุกวัน การเจาะเลือดเพื่อตรวจสอบค่าความเป็นกรดด่างอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก เพราะถ้าเอากันจริงๆหลายท่านก็คงจะไม่ชอบนักที่จะต้องเจาะเลือดของตนเองทุกวัน จริงไหมครับ ?
ทางเลือกอื่นยังมี การตรวจสอบสมดุลร่างกายโดยวัดค่าความเป็นกรดด่างของเลือด อาจเป็นเรื่องยุ่งยากสำหรับหลายท่าน ทางการแพทย์จึงได้คิดค้นการตรวจสอบสมดุลร่างกายของคนเรา ด้วยของเหลวจากร่างกายชนิดอื่น นั่นคือ ปัสสาวะ
ไตเป็นอวัยวะที่มีหน้าที่ในการรักษาสมดุลน้ำ สมดุลเกลือแร่และกรดด่างในร่างกาย โดยการขับของเสียหรือสารเคมีส่วนเกินออกทางมาทางปัสสาวะ นักวิทยาศาสตร์จึงให้ความสำคัญกับการตรวจสมดุลกรดด่างของร่างกายด้วยวิธีการตรวจจากปัสสาวะโดยตรง โดยค่าความเป็นกรดด่างของปัสสาวะจะแปรผันตามอาหารที่เรากินเข้าไป วิธีการนี้ถูกใช้มาเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปีในการตรวจเช็คสมดุลกรดด่างของร่างกายได้เป็นอย่างดี ดังนั้น เราจะทราบได้ว่าร่างกายของเรามีความสมดุลกรดด่างหรือไม่ ? ได้จากการตรวจค่าความเป็นกรดด่างของปัสสาวะนั่นเอง
วิธีการตรวจปัสสาวะและแปลผล

ชุดตรวจสอบค่าความเป็นกรดด่างของปัสสาวะ
สิ่งที่เราต้องเตรียมเพื่อการตรวจค่าความเป็นกรดด่างของปัสสาวะมีดังนี้
1. ปัสสาวะหลังตื่นนอนตอนเช้า
2. กระดาษทดสอบความเป็นกรดด่าง
3. กระดาษทิชชู่
หลังตื่นนอนตอนเช้าหากปวดปัสสาวะให้เก็บปัสสาวะลงในภาชนะที่เตรียมไว้จะเป็นแบบแก้วหรือพลาสติกก็ได้ จากนั้นให้ใช้กระดาษทดสอบความเป็นกรดด่างจุ่มลงในปัสสาวะแล้วยกขึ้นทันที จากนั้นให้นำกระดาษทดสอบซับกับทิชชู่เพื่อไม่ให้ปัสสาวะอยู่บนกระดาษทดสอบนานเกินไป เพราะอาจจะทำให้ผลการตรวจวัดผิดเพี้ยนไปได้ จากนั้นรอ 5 – 10 วินาทีแล้วค่อยอ่านผล โดยให้เราดูสีบนกระดาษทดสอบความเป็นกรดด่างเทียบกับแถบสีมาตราฐานของการวัดค่าความเป็นกรดด่างของตัววัดนั้น
หลังจากที่เราวัดค่าเสร็จแล้วเราจะได้ค่าความเป็นกรดด่างมาค่าหนึ่ง จากนั้นให้เรานำค่าที่ได้มาแปลผลเทียบกับข้อมูลที่ต่อไปนี้
ค่า pH อยู่ในช่วง 6.5 – 7.5 ถือว่าร่างกายมีความสมดุลกรดด่าง
ค่า pH น้อยกว่า 6.5 ถือว่าร่างกายมีความเป็นกรดอยู่
ค่า pH มากกว่า 7.5 ส่วนใหญ่เกิดจากการวัดที่คลาดเคลื่อน แต่ถ้าวัดหลายๆรอบแล้วเหมือนเดิมแสดงว่ามีความผิดปกติกับร่างกายแล้ว หาหมอด่วน
การตรวจสมดุลกรดด่างในร่างกายต้องทำอย่างต่อเนื่องเป็นประจำเป็นสัปดาห์หรือหลายสัปดาห์ ทุกครั้งที่เราวัดค่าได้แล้วให้เราจดบันทึกไว้ทุกๆครั้งหรือทุกๆวัน ถ้าเราทำต่อเนื่องจนครบ 1 สัปดาห์แล้วค่าที่ได้อยู่ในช่วง 6.5 – 7.5 ตลอดถือว่าการกินอาหารของเราและรูปแบบการใช้ชีวิตเป็นรูปแบบที่ดีให้พยายามรักษาไว้ให้ได้ ถ้าทำได้อย่างต่อเนื่องสุขภาพจะดึขึ้นเรื่อยๆจนถึงจุดที่ร่างกายมีความสมดุล
สมดุลร่างกายกับสุขภาพของกระดูก
เราทราบกันแล้วว่าอาหารมีผลต่อสมดุลกรดด่างของร่างกาย ทีนี้เราลองมาศึกษากันในรายละเอียดเพิ่มเติมว่า สมดุลร่างกายมีผลต่อกระดูกอย่างไรบ้าง ?
หากเราดูแลเรื่องอาหารกินไม่ดีพอ ร่างกายอาจเกิดภาวะเสียความสมดุล จนส่งผลกับกระดูกได้
ภาวะเสียสมดุลในทางการแพทย์ คือ ภาวะที่เลือดมีความเป็นกรด กล่าวคือ มีค่า pH น้อยกว่า 7.35 ซึ่งหากร่างกายประสบกับภาวะนี้เมื่อไหร่ ร่างกายจะมีกระบวนการในการปรับสมดุล เพื่อให้ค่า pH ของเลือดเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด (ค่าปกติอยู่ที่ 7.35 – 7.45)
การปรับสมดุลร่างกายจำเป็นต้องใช้แร่ธาตุในกระดูก กล่าวคือ ร่างกายจะมีการดึงแร่ธาตุจากกระดูกออกมาเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อให้ค่า pH ของเลือดเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด
นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมคนที่ทานอาหารไม่เป็น ไม่ดูแลสุขภาพ ร่างกายขาดความสมดุล จึงมักมีปัญหาโรคกระดูกบางและกระดูกพรุนตามมาในระยะยาว
สมดุลของร่างกายมีผลต่อสุขภาพของกระดูกมาก จากการศึกษาในห้องทดลองพบว่า หากค่า pH ของเลือดลดลงไปถึง 7.15 หรือลดลงไป 0.2 เซลล์ในร่างกายจะเพิ่มกระบวนการละลายและดึงแร่ธาตุออกจากกระดูกเพิ่มขึ้นถึง 500-900% (ประมาณ 5-9 เท่าของภาวะปกติ) ซึ่งเป็นภาวะที่อันตรายต่อกระดูกส่งผลให้เป็นโรคกระดูกพรุนได้
ดังนั้น ถึงตรงนี้แล้วเราจึงสรุปได้ว่า อาหารมีผลต่อสมดุลร่างกาย และสมดุลร่างกายมีผลต่อสุขภาพของกระดูกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้!
อาหารกรด อาหารด่างเป็นอย่างไร ?
เนื่องจากอาหารที่เรากินในแต่ละครั้งมีผลต่อสมดุลกรดด่างของร่างกาย เราจึงมีความจำเป็นต้องเรียนรู้และเข้าใจนิยามของคำว่า “อาหารกรด” และ”อาหารด่าง” เพื่อที่จะนำความรู้ตรงนี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันในการเลือกซื้อเลือกกินอาหารให้ร่างกายมีความสมดุลกรดด่างได้ตามเป้าประสงค์
อาหารแต่ละชนิดมีค่าความเป็นกรดด่างไม่เท่ากัน ประเด็นคือ คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า
อาหารกรดคือ อาหารที่ค่า pH < 7 ทานเข้าไปแล้วสร้างความเป็นกรดเพิ่มขึ้นให้กับร่างกาย อาหารด่างคือ อาหารที่ค่า pH > 7 ทานเข้าไปแล้วสร้างความเป็นด่างเพิ่มขึ้นให้กับร่างกาย
ซึ่งเป็นจริงสำหรับอาหารส่วนหนึ่งที่ค่า pH ของอาหารเป็นกรดทานเข้าไปแล้วความเป็นกรดของร่างกายจะมากขึ้นและค่า pH ของอาหารที่เป็นด่างทานเข้าไปแล้วความเป็นด่างของร่างกายจะมากขึ้น แต่ไม่ใช่สำหรับอาหารทุกชนิด เพราะอาหารต้องผ่านการย่อยและเผาผลาญและผ่านกระบวนการต่างๆในร่างกาย จนสุดท้ายผลที่ได้อาจจะเป็นกรดหรือเป็นด่างต่อร่างกายก็ได้ อธิบายเพิ่มเติมก็คือ เราจะดูว่าอาหารที่เราทานเข้าไปเป็นกรดหรือเป็นด่าง ต้องดูกันตอนสุดท้ายตอนที่ย่อยและเผาผลาญจนหมดแล้วถึงจะสรุปได้ชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น
- น้ำเลมอน (มะนาว) ค่า pH คือ 2.4 < 7 ตามปกติถือว่ามีความเป็นกรด แต่ถ้าเราทานเข้าไปแล้วสุดท้ายฤทธิ์ที่ได้คือ เป็นด่าง ดังนั้น น้ำมะนาวเป็นอาหารด่าง
- น้ำสับปะรด ค่า pH คือ 3.35 < 7 ตามปกติถือว่ามีความเป็นกรด แต่ถ้าเราทานเข้าไปแล้วสุดท้ายฤทธิ์ที่ได้คือ เป็นด่าง ดังนั้น น้ำสับปะรดเป็นอาหารด่าง
ดังนั้น การแบ่งแยกว่าอาหารชนิดไหนเป็นอาหารกรดและอาหารชนิดไหนนั้นเป็นอาหารด่าง จึงมีวิธีที่แตกต่างออกไปจากการวัดค่า pH ของอาหารโดยตรง และเราต้องดูที่ผลสุดท้ายว่ามีฤทธิ์เป็นกรดหรือด่างหลังจากผ่านกระบวนการต่างๆในร่างกายเรียบร้อยแล้ว
การแบ่งแยกว่าอาหารชนิดไหนเป็นอาหารกรดหรือเป็นอาหารด่าง เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาให้ลึกลงไปในรายละเอียดของอาหารชนิดนั้น ซึ่งการที่เราจะทานอาหารให้เกิดสมดุลกรดด่างในร่างกายก็ไม่จำเป็นเสมอไปที่เราจะต้องรู้มาก่อนถึงจะเริ่มปฏิบัติได้ นักวิทยาศาสตร์ (ผู้เขียนหมายถึง แพทย์ นักโภชนาการ นักเคมี นักฟิสิกส์และอื่นๆอีก) ได้ให้หลักในการตัดสินใจว่าอาหารชนิดไหนส่วนใหญ่เป็นอาหารกรด อาหารชนิดไหนส่วนใหญ่เป็นอาหารด่างดังนี้
- เนื้อสัตว์ ไขมัน แป้งขัดสี น้ำตาลส่วนใหญ่แล้วจะเป็นอาหารกรด
- ผักผลไม้ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นอาหารด่าง
- เครื่องดื่มอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มสำเร็จรูป เหล้าเบียร์ทุกชนิดเป็นอาหารกรด
หลักในการแบ่งแบบง่ายๆมีเท่านี้ แต่บอกไว้ก่อนว่าไม่ถูกต้องไปทั้งหมด ย้ำว่าส่วนใหญ่!!!
อย่างไรก็ตาม เป็นโชดดีของเราที่มีนักวิทยาศาสตร์และกูรูหลายๆท่านได้ศึกษาเรื่องนี้มาก่อนหน้าเราเป็นร้อยปีแล้ว ฐานข้อมูลเรื่องอาหารกรดและอาหารด่างจึงถูกรวบรวมไว้ค่อนข้างละเอียด ซึ่งเราสามารถนำหลักการที่แสดงไว้ข้างต้นไปปรับใช้ได้ทันที ผลแม่นยำ 80 – 90 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าอาหารในแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง ตามสภาพภูมิอากาศและถิ่นกำเนิดของอาหารก็ตาม
หลักในการกินอาหารต้านกระดูกพรุนและเสริมสร้างมวลกระดูก

หัวใจสำคัญของการดูแลกระดูก คือ การทานอาหารแต่ละชนิดให้ถูกสัดส่วน
เราจะใช้หลักของสมดุลร่างกาย เพราะร่างกายอยู่ในสภาวะสมดุลจะไม่มีการดึงเอามวลกระดูกออกมาใช้ โดยเราจะทราบได้ว่าร่างกายของเราสมดุลดีหรือไม่ โดยใช้วิธีการตรวจสอบค่า pH ของปัสสาวะ ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
ร่างกายจะสมดุลได้เราต้องทานให้เป็นโดยใช้หลักดังต่อไปนี้
1. ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
ร่างกายของคนเราประกอบด้วยน้ำ 60-65% น้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ร่างกายขาดไม่ได้ อีกทั้งน้ำยังเป็นตัวช่วยในการกำจัดของเสีย สารพิษ ช่วยให้ร่างกายทำงานได้เป็นปกติ การดื่มน้ำที่เพียงพอจะช่วยให้ร่างกายมีความสมดุลและช่วยต่อต้านภาวะความเป็นกรดในร่างกาย ซึ่งเป็นภาวะที่นำไปสู่โรคกระดูกพรุน
ร่างกายของคนทั่วไปต้องการน้ำวันละ 6-8 แก้ว ตามที่เราเห็นการรณรงค์ให้ดื่มน้ำกันทางทีวี ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ในยุคปัจจุบันที่อาหารส่วนมากมีส่วนผสมของเกลือ น้ำตาล สารปรุงรสจำนวนมาก การดื่มน้ำปริมาณที่เคยสอนกันไว้ไม่น่าจะเพียงพออีกต่อไปแล้ว หากเราต้องการดื่มน้ำเพื่อต้านภาวะความเป็นกรดในร่างกาย แนะนำให้ดื่มน้ำ 65 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เช่น
ถ้าเรามีน้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม เราควรดื่มน้ำ 60 x 65 = 3,900 มิลลิลิตรหรือ 3.9 ลิตรนั่นเอง
2. กินอาหารให้ถูกปริมาณ สัดส่วน
เราจะใช้หลัก 80/20 สำหรับการทานอาหารเพื่อให้ร่างกายมีความสมดุลโดย
80% เป็นอาหารด่าง 20% เป็นอาหารกรด
สัดส่วนของอาหารสำคัญต่อสมดุลกรดด่างในร่างกายมาก หากเรารับประทานได้ตามสัดส่วนนี้เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ร่างกายจะอยู่ในสภาวะที่มีความสมดุลอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
ปริมาณในการทานอาหารที่ถูกต้องคือ อิ่มที่ 70-80% คนส่วนมากเวลาทานอาหารมักทานกันจนอิ่ม 100% (รู้สึกอิ่มเต็มที่) หรือการทานอาหารอิ่ม 120% (อิ่มเกินไป) ซึ่งนอกจากทำให้เกิดอาการอึดอัดแน่นท้องแล้ว ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพกล่าวคือ การทานอาหารอิ่มเต็มที่หรืออิ่มเกินไป จะส่งผลให้ร่างกายต้องทำงานหนักและใช้พลังงานจำนวนมากในการย่อย รวมทั้งหากทานมากของเสียก็มีมาก ร่างกายก็ต้องใช้พลังงานจำนวนมากในการกำจัดของเสียออกไปด้วย ทำให้ร่างกายมีพลังงานเหลือน้อยในการซ่อมแซมหรือฟื้นฟูร่างกาย นั่นส่งผลออกมาในรูปแบบของความแก่ ความเจ็บป่วยและอายุสั้น
3. เลือกรับประทานอาหารเสริมสร้างกระดูก
อาหารที่เสริมสร้างกระดูก คือ อาหารด่างที่มีสารอาหารที่กระดูกต้องการ ซึ่งส่วนมากจะเป็นผักผลไม้และธัญพืชไม่ขัดสี
สารอาหารสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างกระดูกมีดังต่อไปนี้
ลำดับ | สารอาหาร | พบมากใน |
---|---|---|
1. | แคลเซียม | งาดำ ถั่วเหลือง ถั่วแระ ถั่วลันเตา เมล็ดฟักทอง เนื้อมะพร้าว กระเจี๊ยบเขียว บรอคเคอรี่ ผักโขม ผักกวางตุ้งจีน |
2. | ฟอสฟอรัส | งาดำ เมล็ดทานตะวัน เมล็ดแตงโม เมล็ดฟักทอง เนื้อสัตว์ปีก ผลิตภัณฑ์จากนม |
3. | โครเมียม | ข้าวกล้อง บร็อคเคอรี่ เห็ด ถั่วเขียว ไข่ไก่ ปลา ข้าวโพด มันฝรั่ง |
4. | ซิลิกา | แอปเปิ้ล ข้าวฟ่าง หัวไชเท้า แตงกวา พริก มะเขือเทศ มันฝรั่ง ข้าวกล้อง |
5. | สังกะสี | งาดำ เมล็ดฟักทอง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ถั่วแดง ผักโขม |
6. | แมงกานีส | ข้าวกล้อง งาดำ เมล็ดฟักทอง เมล็ดทานตะวัน ถั่วเหลือง เต้าหู้ ผักโขม พริกป่น |
7. | ทองแดง | งาดำ ถั่วเหลือง ถั่วแดง อาหารที่หมักจากถั่วเหลือง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เห็ดหอม อโวคาโด |
8. | โบรอน | แอปเปิ้ล กล้วย ส้ม องุ่นแดง บร็อคเคอรี่ ถั่วลิสง ถั่วฝัก ลูกเกด พรุน |
9. | โพแทสเซียม | กล้วย ถั่วขาว ผักโขม เห็ดชนิดต่างๆ อโวคาโด |
10. | สตรอนเทียม | ข้าวกล้อง ผักโขม แครอท ถั่วลันเตา |
11. | วิตามินเอ | แครอท แคนตาลูป พริกหยวก มะละกอ มะม่วง ผักใบเขียวเข้ม |
12. | วิตามินบี 6 | ข้าวกล้อง งาดำ เมล็ดฟักทอง เมล็ดทานตะวัน กล้วย |
13. | โฟเลต (วิตามินบี 9) | ถั่วแดง ถั่วดำ ผักโขม บรอคเคอรี่ มะม่วง ส้ม |
14. | วิตามินบี 12 | ถั่วเหลือง ไข่ไก่ ปลาทะเล |
15. | วิตามินซี | ฝรั่ง ส้ม มะละกอ มะเขือเทศ สตรอเบอรี่ มะนาว บรอคเคอรี่ |
16. | วิตามินดี | ปลาทะเล ไข่แดง เห็ดชนิดต่างๆ |
17. | วิตามินเค 1 | ผักใบเขียวทุกชนิด |
18. | วิตามินเค 2 | ผลิตภัณฑ์ที่เป็นถั่วเหลืองหมัก เช่น ถั่วเน่าญี่ปุ่น (Natto) |
19. | ไขมัน | น้ำมันงาดำ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก น้ำมันปลาทะเล |
20. | โปรตีน | งาดำ เมล็ดฟักทอง ถั่วเหลือง ถั่วดำ ถั่วลันเตา ถั่วเขียว เห็ดทุกชนิด |
รวมแล้วทั้งหมด 20 ชนิด
จากตัวอย่างอาหารที่เสริมสร้างกระดูก ผู้เขียนพยายามรวบรวมอาหารที่มีสารอาหารหลากหลายและมีคุณค่าทางอาหารสูง อีกทั้งยังเป็นอาหารที่หาทานได้ง่ายในประเทศไทยของเรา หากเราสังเกตรายชื่อตัวอย่างอาหารให้ดีจะเห็นว่ามีอาหารอยู่หลายชนิดที่มีเราควรทานเป็นประจำ เช่น
- ธัญพืช ได้แก่ ข้าวกล้อง งาดำ เมล็ดฟักทอง เมล็ดทานตะวัน ถั่วเหลืองและถั่วชนิดต่างๆ
- ผัก ได้แก่ บร็อคเคอรี่ ผักโขม มะเขือเทศ แครอท (ควรทานร่วมหรือหมุนเวียนกับผักชนิดอื่นด้วย)
- ผลไม้ ได้แก่ มะละกอ กล้วย ส้ม แอปเปิ้ล มะม่วง สับปะรด ฝรั่ง (ควรทานร่วมหรือหมุนเวียนกับผลไม้ชนิดอื่นด้วย)
- เนื้อสัตว์ ให้ทานปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาทู ปลาคอด
ถ้าท่านทานอาหารได้ตามนี้ รับรองได้ว่าได้รับสารอาหารสำคัญสำหรับกระดูกครบถ้วนแน่นอน!
4. พยายามทานอาหารที่ผ่านการแปรรูปน้อย
อาหารที่มีคุณค่าทางอาหารสูง คือ อาหารที่ผ่านการแปรรูปน้อยหรืออาหารสดครับ เช่น ผักผลไม้สด ปลาดิบ หรือข้าวกล้อง เป็นต้น คำว่า แปรรูป หมายถึง กระบวนการทำให้อาหารเปลี่ยนแปลงรูปแบบเดิมของมันไป เช่น
- นำข้าวกล้องมาขัดสีเป็นข้าวขาว
- นำข้าวขาวมาทำเป็นแป้ง
- นำแป้งมาทำเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว
- นำเนื้อหมูมาทำเป็นฮอตดอก
- นำมะม่วงมาแช่อิ่มหรือดอง
ทุกครั้งที่มีแปรรูปอาหารจะส่งผลให้คุณค่าทางอาหารของอาหารชนิดนั้นลดลงไป ดังนั้น หากเราต้องการอาหารที่มีคุณค่ามาก เราต้องพยายามทานสดๆจะดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผักและผลไม้ ทานแบบสดๆจะได้คุณค่าทางอาหารสูงมาก
อย่างไรก็ตาม อาหารประเภทเนื้อสัตว์แม้ว่าจะทานสดๆแล้วจะมีคุณค่าทางอาหารสูงก็จริง แต่อาหารสดประเภทนี้มักจะมีพยาธิหรือปรสิตอยู่ในอาหาร หากไม่นำไปผ่านความร้อนหรือทำให้สุก อาจส่งผลให้ผู้รับประทานป่วยเป็นโรคชนิดต่างๆจากพยาธิและปรสิตได้ ดังนั้น อาหารประเภทเนื้อสัตว์ถ้าจะให้ปลอดภัยกับร่างกายควรทำให้สุกหรือผ่านความร้อนก่อนรับประทานเสมอ
5. หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้สูญเสียมวลกระดูก
อาหารที่ทำให้สูญเสียมวลกระดูก คือ อาหารกรด (อาหารที่ทานเข้าไปแล้วส่งผลให้เลือดมีความเป็นกรด) ซึ่งได้แก่อาหารดังต่อไปนี้
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เหล้า เบียร์
- น้ำอัดลม
- กาแฟ
- เครื่องดื่มชูกำลัง
- การสูบบุหรี่
- เนื้อสัตว์ทุกชนิด หากมีการบริโภคที่มากเกินไป
- เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก กุนเชียง
- ผลไม้แปรรูป เช่น ผลไม้ดอง ผลไม้แช่อิ่ม
- อาหารที่ผสมสี กลิ่น สารกันบูด
- อาหารที่ใส่ผงชูรส
- ข้าวที่ผานการขัดสีแล้ว (ข้าวขาว)
- แป้งที่ทำจากข้าวที่ผ่านการขัดสีแล้ว
- น้ำตาลทราย ไม่ว่าจะเป็น น้ำตาลทรายขาวหรือน้ำตาลทรายแดง
พยายามทานอาหารเหล่านี้ให้น้อยที่สุด หรือถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็ควรหลีกเลี่ยง!
6. เลือกใช้อาหารเสริมหากจำเป็น
อาหารเสริมจำเป็นสำหรับผู้ที่ต้องการบำรุงกระดูกเป็นพิเศษ อันได้แก่ ผู้ที่มีปัญหากระดูกบางหรือกระดูกพรุน ผู้สูงอายุ นักกีฬา สำหรับคนทั่วไปก็อาหารเสริมบำรุงกระดูกก็อาจจำเป็น ในกรณีที่ทานอาหารธรรมดาไม่ครบชนิด ส่งผลให้ได้รับสารอาหารเพื่อเสริมสร้างกระดูกไม่ครบถ้วน รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก อาหารเสริมสำหรับโรคกระดูกพรุน
สรุป
การกินอาหารเพื่อบำรุงกระดูกไม่ใช่เรื่องยากอะไร ขอเพียงเรามีความตั้งใจและมีสติในการเลือกทานอาหารเท่านั้น ในยุคปัจจุบันที่มีอาหารให้เราเลือกรับประทานหลากหลาย แต่คนส่วนมากมักจะยึดติดกับรสชาติและความอร่อยเป็นหลัก จนหลงลืมไปว่าการรับประทานอาหารแท้จริงเราทานเพื่อดำรงชีวิตอยู่ ไม่ใช่เพื่อความอร่อยอย่างเดียวเท่านั้น ดังนั้น สิ่งที่เราควรคำนึงถึงเป็นหลักในการทานอาหารทุกครั้ง คือ สมดุลร่างกายที่จะเกิดขึ้นรวมถึงคุณค่าทางอาหารที่ร่างกายจะได้รับ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง สุขภาพดี มีอายุยืน และเพื่อกระดูกที่แข็งแรงขึ้น ห่างไกลจากโรคกระดูกพรุนครับ