สารบัญ

ทุกครั้งที่ดื่มแอลกอฮอล์ กระดูกจะมีการสูญเสียแคลเซียม
เครื่องดื่มยอดนิยมของคนไทยที่บริโภคกันติดอันดับโลก คือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็นเหล้า เบียร์ ไวน์ ซึ่งการดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลให้เกิดผลเสียหลายอย่าง ทั้งในส่วนของความปลอดภัยในชีวิต เพราะผู้บริโภคแอลกอฮอล์แล้วขับขี่ยานพาหนะ มักเกิดอุบัติเหตุจนเกิดความสูญเสีย และในส่วนของสุขภาพที่ทำให้เกิดโรคต่างๆตามมา โดยที่ผู้บริโภคหลายท่านไม่เคยทราบเลยว่าการบริโภคแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุหนึ่งของการสูญเสียมวลกระดูกและส่งผลให้เกิดเป็นโรคกระดูกพรุนได้
ความเชื่อมโยงของการบริโภคแอลกอฮอล์กับโรคกระดูกพรุน
แอลกอฮอล์ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพของกระดูกด้วยหลายเหตุผล เริ่มต้นจาก การดื่มแอลกอฮอล์ที่มากเกินไปจะไปรบกวนสมดุลแคลเซียมในร่างกาย ซึ่งแคลเซียมเป็นสารอาหารสำคัญสำหรับกระดูก อีกทั้งยังเพิ่มระดับฮอร์โมนพาราไทรอยด์ (Paratyriod Hormone) ซึ่งส่งผลให้การรักษาระดับแคลเซียมในร่างกายลดลง ยิ่งไปกว่านั้นแอลกอฮอล์ยังไปรบกวนกระบวนการผลิตวิตามินดี ซึ่งเป็นวิตามินสำคัญต่อกระดูกเพราะช่วยในการดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกาย
การดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักแบบต่อเนื่อง สามารถทำให้เกิดภาวะฮอร์โมนพร่อง (hormone deficiencies) ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง ผู้ชายที่ติดเหล้ามีแนวโน้มที่จะผลิตฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายได้น้อยกว่าคนปกติ ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้มีความเชื่อมโยงกับการผลิตออสทีโอบลาสต์ (Osteoblast คือ เซลล์ที่ใช้ในการสร้างกระดูก) ในส่วนของผู้หญิง ผู้หญิงที่ติดเหล้ามักมีปัญหาเรื่องประจำเดือนมาไม่ปกติ เนื่องจากร่างกายมีการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนได้น้อยกว่าคนปกติ ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคกระดูกพรุน ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่า ร่างกายของผู้ที่ติดเหล้ามักจะมีแนวโน้มในการสร้างฮอร์โมนคอติซอล ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความเครียด และเป็นที่ทราบกันดีว่าฮอร์โมนชนิดนี้จะไปลดการสร้างกระดูกและเพิ่มความเสี่ยงของภาวะกระดูกแตกหักได้
เนื่องจากการดื่มแอลกอฮอล์มีผลต่อการทรงตัว ซึ่งเราจะทราบกันดีอยู่แล้วว่าคนที่เมามักจะเดินไม่ตรง สูญเสียการทรงตัว และมีแนวโน้มหรือความเสี่ยงที่จะหกล้มได้มากกว่าคนที่ไม่ดื่ม การดื่มแอลกอฮอล์มากๆจึงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะกระดูกแตกหัก การบาดเจ็บที่พบได้บ่อย คือ กระดูกสะโพกแตกหัก กระดูกสันหลังแตกหัก เป็นต้น
เทคนิคในการดื่มเหล้าให้น้อยลง
เทคนิคเล็กๆน้อยๆในการงดดื่มเหล้าหรือดื่มให้น้อยลง เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น
- มีความตั้งใจจริงในการลดละเลิก ทุกอย่างในโลกเปลี่ยนแปลงได้ เริ่มต้นจากการมีเป้าหมายที่ชัดเจนแน่วแน่ รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เราทำเพื่อให้ตัวเองดีขึ้น และทำเพื่อคนใกล้ชิดหรือคนที่เรารักด้วย
- ให้สัญญาว่าจะเลิกเหล้ากับคนที่มีความสำคัญในชีวิตเรา จะช่วยให้มีกำลังใจในการเลิกเหล้ามากขึ้น
- รู้จักที่จะปฏิเสธหากถูกชักชวน นักดื่มหลายคนมักจะมีข้ออ้างในการดื่มเหล้าเพื่อเข้าสังคม แต่ในความเป็นจริงแล้วหากเรารู้จักที่จะปฏิเสธอย่างมีเหตุผลและจริงจัง ทุกคนย่อมเข้าใจและเคารพในการตัดสินใจของเรา
- หาเครื่องดื่มชดเชยแทนการดื่มเหล้า คนเราติดเหล้าเพราะติดสุขที่ได้รับจากการดื่ม หากเรารู้สึกอยากดื่มเหล้าขึ้นมาเมื่อไหร่ ? ให้ลองหาเครื่องดื่มทดแทน เช่น กาแฟ (ไม่ควรเกินวันละ 2 แก้ว) หรือชาร้อนๆ จะช่วยลดความอยากเหล้าได้
- ทำกิจกรรมอื่นๆทดแทนในช่วงเวลาที่ชอบดื่ม เช่น ออกกำลังกาย ปลูกต้นไม้ การสวดมนต์นั่งสมาธิ
- เปลี่ยนสิ่งแวดล้อมใหม่ ไม่ไปร้านเหล้าและคบเพื่อนที่ชอบดื่มให้น้อยลง ไปในที่ใหม่ๆบ้าง เช่น ฟิตเนส วัด เที่ยวธรรมชาติ
- พยายามดื่มน้ำเปล่ามากๆในระหว่างวัน น้ำเปล่าในปริมาณที่มากพอจะช่วยกำจัดพิษของแอลกอฮอล์ได้
ถ้าพยายามด้วยตนเองแล้วยังไม่สำเร็จ โทรคุยกับผู้เชี่ยวชาญได้ที่ 1413 สายเลิกเหล้าแบบเด็ดขาดของ สสส
สรุป
การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดมีผลเสียต่อกระดูกทั้งในระยะสั้น กล่าวคือ ร่างกายสูญเสียแคลเซียม และในระยะยาวหรือดื่มแบบต่อเนื่องคือ เป็นโรคกระดูกพรุนและอาจประสบกับภาวะกระดูกแตกหักได้ อย่างไรก็ตาม พิษภัยของสุราส่วนมากแล้วไม่ได้จำกัดอยู่แค่ตัวผู้ดื่มเท่านั้น แต่มักจะปรากฏออกมาในรูปแบบของอุบัติเหตุทางจราจรหรือการทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายกัน เพราะขาดสติมากกว่า ดังนั้น ผู้ดื่มเองจึงควรตระหนักว่า การเลิกเหล้าได้เป็นเรื่องดี เพราะนอกจากจะช่วยชีวิตตนเองแล้วยังช่วยชีวิตคนอื่นได้ แต่ถ้ายังดื่มอยู่ก็ควรมีความรับผิดชอบในการเมาไม่ขับ เมาไม่ขี่ กลับแท็กซี่เอาดีกว่าครับ
อ้างอิง
http://www.niams.nih.gov/health_info/bone/Osteoporosis/Conditions_Behaviors/default.asp